หุ้นทอง
บตท.ร่วมกับ ม.เชียงใหม่ นำร่องแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์


 

 

 

บตท. เดินหน้าร่วมกับ ม.เชียงใหม่  ใช้ Securitization (การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์) เป็นเครื่องมือระดมทุน นำร่องใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาไทยเป็นแห่งแรก

 

 

 

 

บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย(บตท.) นำโดย นางพรนิภา  หาชัยภูมิ กรรมการและผู้จัดการ ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ นพ. นิเวศน์  นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนความรู้การศึกษาหรือวิจัยร่วมกัน เพื่อการพัฒนาเครื่องมือทางการเงิน(Financial Instrument) สำหรับใช้ในการบริหารสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการนำกระบวนการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) มาใช้ในการบริหารต้นทุนทางการเงิน เมื่อเร็ว ๆนี้ ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

            

นางพรนิภา  กล่าวว่า "การลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย นับเป็นความร่วมมือเพื่อนำนวัตกรรมการเงินมาผนวกกับระบบการศึกษา เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนโดยใช้เครื่องมือการเงิน คือ กระบวนการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์  หรือ "Securitization" มาบริหารสินทรัพย์และต้นทุนทางการเงินให้มีประสิทธิภาพ  ตลอดจนการร่วมมือดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกันระหว่างสองหน่วยงาน 

 

บตท. ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลัง ที่มีบทบาทหลักในการระดมทุนเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์  เชื่อมโยงระหว่างตลาดทุนมาสู่ตลาดเงิน ทำให้เกิดการพัฒนาและการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ นับเป็นความภาคภูมิใจที่ได้รับเกียรติจากทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มอบให้บตท. เป็นผู้ให้คำแนะนำและคำปรึกษาในการระดมทุน เพื่อการสร้างและซ่อมแซมบ้านพักอาศัยสำหรับคณาจารย์ และนักศึกษาตลอดจนการให้ความรู้การทำ Securitization เพื่อสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมชุมชนและสิ่งแวดล้อมร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่"

 

 

ด้านรองศาสตราจารย์ นพ. นิเวศน์  นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า "การลงนามนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินร่วมกัน โดย มช. และ บตท. จะร่วมกันกำหนดแนวทางความร่วมมือ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันดังนี้

 

1.      เพื่อร่วมกันดำเนินกิจกรรมทางวิชาการ ในการแลกเปลี่ยนความรู้ การศึกษา หรือวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินร่วมกัน

 

2.      เพื่อพัฒนาศักยภาพและความรู้ของบุคลากรทั้งสองฝ่าย ตลอดจนส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษาและผู้สนใจมีความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องมือทางการเงิน 

 

3.      เพื่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการ และการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม(Corporate Social Responsibility) อย่างเป็นระบบและรูปธรรม

 

มช. และ บตท. จะร่วมกันจัดแนวทางการให้ความร่วมมือ ดังนี้

 

1.      จะร่วมกันกำหนดขอบเขตการศึกษาและวิธีการศึกษาหรือวิจัยร่วมกัน เกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องมือทางการเงิน ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้หรือการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และสรุปผลการศึกษา

 

2.      จะร่วมกันสนับสนุน ส่งเสริม และเผยแพร่ให้นิสิต นักศึกษาและบุคลากรของตนเข้าร่วมศึกษา วิจัย แลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกันอย่างเป็นประจำ และจัดให้มีกิจกรรมเวทีอภิปรายหรือสัมมนาทางวิชาการ กิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม(Corporate Social Responsibility) ตลอดจนจัดทำโครงการฝึกอบรม ศึกษาดูงาน หรือฝึกปฏิบัติงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

3.      จะประสานงานร่วมกันในการอาศัยทรัพยากรของทั้งสองฝ่าย ได้แก่ ทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือทรัพยากรอื่นๆ เช่น ข้อมูล ข้อสนเทศ สถานที่ ตลอดจนอำนวยความสะดวกต่างๆ

 

4.      จะประสานงานร่วมกันในการจัดกิจกรรมร่วมกันในด่านการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ผลงานต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามบันทึกข้อตกลงนี้

 

5.      ในการดำเนินกิจกรรมที่จะจัดให้มีขึ้นตามบันทึกข้อตกลงนี้ ทั้งมหาวิทยาลัย และ บตท. จะเจรจาร่วมกันเพื่อกำหนดรายละเอียด หน้าที่ ความรับผิดชอบ ร่วมทั้งงบประมาณและค่าใช้จ่ายต่างๆ ในแต่ละกิจกรรมต่อไป

 

นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากดร. สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและอดีตปลัดกระทรวงการคลัง รองอธิการบดีฝ่ายแผนงานและพัฒนา รองอธิการบดีฝ่ายบริหารการเงินและทรัพย์สิน รศ.ดร. สิริวุฒิ บูรณพิร คณบดีคณะบริหารธุรกิจ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุจรรย์พินธ์ สุวรรณพันธ์ หัวหน้าภาควิชาการเงินและการธนาคาร คณะบริหารธุรกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานหอพักนักศึกษา ผู้อำนวยการกองคลัง มาร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม การลงนามในครั้งนี้ จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะนำไปสู่ความร่วมมือทางวิชาการต่างๆ ระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยในอนาคต"

      

นางอัญชุลี  สิมะเสถียร  รองกรรมการผู้จัดการ สายการเงิน บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวเสริมว่า "สำหรับโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) ตราสารหนี้ประเภท ABS หรือ Asset Backed Securitiesระหว่าง บตท. และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย  บ้านพักของคณาจารย์ ข้าราชการ บุคลากร และนักศึกษาให้มีสภาพดี และมีเพียงพอต่อจำนวนผู้ต้องการพักอาศัย   

 

อนึ่ง บตท. นั้นทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนและให้คำแนะนำแก่มหาวิทยาลัย ให้สามารถมีเงินทุนนำไปหมุนเวียนเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย โดยนำรายได้จากค่าเช่า หรือ ค่าบริการ มาเป็นกระแสเงินในการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นให้แก่นักลงทุน  เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบการเงินของมหาวิทยาลัยโดยไม่ต้องใช้งบประมาณภาครัฐ โดยบตท. จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินร่วมกับมหาวิทยาลัย"


LastUpdate 01/02/2557 17:46:00 โดย : Admin
23-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 23, 2024, 3:36 pm