การแข่งขันที่สูงในประเทศ ส่งผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ญี่ปุ่นรายย่อยบุกลงทุนตั้งสายการผลิตในไทยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ แนะทางออกของผู้เล่นไทยคือการเข้าร่วมทุนเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและอยู่รอดได้
ภาวะการแข่งขันที่สูงในประเทศญี่ปุ่นประกอบกับปัจจัยดึงดูดของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย ส่งผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ญี่ปุ่นรายย่อยบุกลงทุนตั้งสายการผลิตในไทย การเข้ามาของผู้เล่นญี่ปุ่น จะเพิ่มการแข่งขันในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทย เนื่องจากผู้เล่นญี่ปุ่นค่อนข้างมีความได้เปรียบในด้านการบริหารจัดการต้นทุนการผลิต ซึ่งเป็นผลมาจากขนาดของบริษัทที่ใหญ่กว่าและเทคโนโลยีการผลิตที่เหนือกว่า
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี) ออกบทวิเคราะห์ "ทางออกของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยรายย่อยกับการเข้ามาของผู้เล่นญี่ปุ่น" ชี้แนะทางออกของผู้เล่นไทยเพื่อรับมือสถานการณ์นี้ คือ "การเข้าร่วมทุน" เพื่อที่จะสร้างความแข็งแกร่งและอยู่รอดภายใต้การแข่งขันที่สูงขึ้น การร่วมทุนจะทำให้มีการบริหารต้นทุนการผลิตที่ดีกว่าเนื่องจากขนาดของสายการผลิตที่ใหญ่กว่า และ เทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัยจากผู้ร่วมทุนต่างชาติ โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมทุนกับไทยคือ ความรู้เรื่องกฎระเบียบการลงทุนท้องถิ่นที่ผู้ประกอบการไทยมีมากกว่าและสิทธิในการครอบครองที่ดินของผู้ประกอบการไทย
ทั้งนี้ผู้เล่นรายย่อยญี่ปุ่นบุกลงทุนในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ของไทย โดยมีสาเหตุหลักมาจากภาวะการแข่งขันที่ดุดันในตลาดประเทศแม่ เนื่องจากตลาดที่อิ่มตัวประกอบกับการขาดศักยภาพทางเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้ประกอบการญี่ปุ่นรายย่อยเสียเปรียบผู้ประกอบการญี่ปุ่นรายใหญ่ที่มีศักยภาพทางเทคโนโลยีที่ดีกว่า ส่งผลให้ผู้ประกอบการญี่ปุ่นรายย่อยถูกบีบให้ออกไปแข่งขันในตลาดที่มีเทคโนโลยีใกล้เคียงหรือต่ำกว่าระดับเทคโนโลยีของผู้ประกอบการรายย่อยญี่ปุ่นมากขึ้น (2) การขยายตัวอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยที่คาดว่าต่อไปจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกหลักของอาเซียน
(3) ความคุ้นเคยกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยที่ถูกครอบครองโดยผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น ทำให้เป็นการง่ายที่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นรายย่อยที่จะตามเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย โดยนับตั้งแต่ช่วงปี 2009 เป็นต้นมา บริษัทต่างชาติได้ลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลบริษัทที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า เม็ดเงินลงทุนจากผู้ประกอบการญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจาก 19 พันล้านบาท ในปี 2009 เป็น 136 พันล้านบาทในปี2012 โดยในจำนวนนั้นกว่า 21% เป็นเงินลงทุนจากผู้เล่นรายใหม่ ซึ่งจำนวนโครงการส่วนใหญ่เป็นการลงทุนที่มูลค่าต่ำกว่า 500 ล้านบาท
การเข้ามาของผู้เล่นรายย่อยญี่ปุ่น จะเพิ่มการแข่งขันในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ไทย เนื่องจากผู้เล่นญี่ปุ่นค่อนข้างมีความได้เปรียบในด้านการบริหารจัดการต้นทุนการผลิต ซึ่งเป็นผลมาจากขนาดของบริษัทที่ใหญ่กว่าและเทคโนโลยีการผลิตที่เหนือกว่า จากการวิเคราะห์ของอีไอซี ในห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ระดับ Tier 2 และ 3 พบว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นค่อนข้างมีความได้เปรียบในการแข่งขันเมื่อเทียบกับผู้เล่นไทย โดยแบ่งได้ตามปัจจัยต่างๆ ดังนี้
(1) ขนาดของบริษัทที่ใหญ่กว่า เมื่อเทียบกับผู้เล่นไทย ผู้เล่นญี่ปุ่นโดยเฉลี่ยมีขนาดของรายได้ 4.8 เท่า ของขนาดของรายได้ของบริษัทไทยในปี 2012 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 4.3 เท่าในปี 2007
(2) ความได้เปรียบทางด้านเทคโนโลยีการผลิต ผู้เล่นรายย่อยญี่ปุ่นมีศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในภาพรวมที่ค่อนข้างดีกว่าผู้เล่นรายย่อยของไทย โดยจากการวิเคราะห์ของอีไอซี พบว่า ผู้เล่นรายย่อยญี่ปุ่นมีศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วนด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การใช้เครื่องเชื่อมแขนกลในสายพาน (robot) ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเร็วในการผลิตและการลดการจ้างคนงานซึ่งจะส่งผลให้งานผลิตมีความเสถียรมากขึ้นและประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ้างคนงาน อย่างไรก็ตามการใช้ robot เป็นเทคโนโลยีที่ยังไม่แพร่หลายในผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายย่อยของไทยเนื่องจากมีต้นทุนที่สูงทั้งทางด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) และเม็ดเงินในการลงทุน
ปัจจัยสองประการดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นส่งผลให้ผู้เล่นญี่ปุ่นบริหารต้นทุนการผลิตได้ดีกว่าผู้เล่นไทย โดยจากข้อมูลทางการเงินของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในห่วงโซ่การผลิตระดับ Tier 2 และ 3 อัตรากำไรจากการดำเนินงานเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ของกิจการ ไทย นั้นอยู่ที่ 1.8% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับน้อยกว่าบริษัทญี่ปุ่นที่เท่ากับ 6.4% อยู่มาก ซึ่งเมื่อประกอบภาพกับการบุกตลาดประเทศไทยของผู้เล่นญี่ปุ่นรายใหม่ๆ ดังที่กล่าวไว้ในข้างต้น จะทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยรายย่อยแข่งขันได้ยากขึ้น
ทางออกของผู้เล่นไทยคือการเข้าร่วมทุน เพื่อที่จะสร้างความแข็งแกร่งและอยู่รอดภายใต้การแข่งขันที่สูงขึ้น การปรับเปลี่ยนกลยุทธของผู้เล่นไทยรายย่อยเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งกับการอยู่รอดภายใต้การแข่งขันที่สูงขึ้น การร่วมทุน (JV) กับผู้เล่นต่างชาติเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ สิ่งที่ผู้เล่นไทยจะได้รับจากการร่วมทุนคือ ระดับเทคโนโลยีที่เหนือกว่าและระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพ โดยปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมทุนกับไทยคือ การมีความรู้เรื่องกฎระเบียบการลงทุนท้องถิ่นที่ผู้ประกอบการไทยมีมากกว่าและสิทธิในการครอบครองที่ดินของผู้ประกอบการไทย ซึ่งจากการวิเคราะห์ของอีไอซี พบว่าการร่วมทุนระหว่างผู้เล่นไทยและผู้เล่นญี่ปุ่นส่งผลธุรกิจมีการบริหารต้นทุนการผลิตที่ดีกว่าเนื่องจากขนาดของสายการผลิตที่ใหญ่กว่า และ เทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัยจากผู้ร่วมทุนญี่ปุ่น อัตรากำไรจากการดำเนินงานเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ของกิจการร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่น นั้นอยู่ที่ 6.6% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดีพอๆ กับบริษัทญี่ปุ่น
ขณะเดียวกันอีไอซีได้ชี้ว่า อย่ามองข้ามผู้ร่วมทุนสัญชาติอื่นๆด้วย ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จีนได้เริ่มทยอยเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย แม้ว่าในปัจจุบันปริมาณและมูลค่าในการลงทุนยังมีไม่มาก แต่อีไอซี มองว่าในอนาคตผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จีนจะเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น เนื่องจากการเข้ามาตั้งสายการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์จีนเป็นโอกาสให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จีนตามเข้ามาผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อป้อนให้กับลูกค้าเดิม โดยผู้ประกอบการสามารถหาโอกาสพบผู้ประกอบการต่างชาติได้ตามงานแสดงสินค้า (exhibition) การประชุมและสัมมนาที่จัดโดยหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนั้นการติดต่อสอบถามผ่านทางซัพพลายเออร์ที่มีลูกค้าอยู่ในต่างประเทศก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน
นอกจากนี้ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายย่อยควรให้ความสำคัญกับ R&D มากขึ้น ประโยชน์ที่ชัดเจนของการวิจัยและพัฒนาคือการยกระดับเทคโนโลยีการผลิตซึ่งจะสร้างความแข็งแกร่งแก่ธุรกิจในระยะยาว โดยเมื่อมองในภาพรวมพบว่า ประเทศไทยยังมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP เพียง 0.2% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นซึ่งอยู่ที่ 3% ของ GDP
จากการวิเคราะห์ของอีไอซี พบว่าเบื้องหลังของปัญหาคือ การให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาที่ยังน้อยเกินไปของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีจำนวนคิดเป็นสัดส่วนกว่า 90% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมดในประเทศ โดยในปี 2012 ภาคเอกชนไทยมีสัดส่วนเพียง 59% ของค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่น้อยเมื่อเทียบกับสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนของญี่ปุ่นและจีนที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 74% และ 77% ตามลำดับ
ข่าวเด่น