เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ญี่ปุ่นชี้การเมืองไม่สงบฉุดบรรยากาศการลงทุน


 

 

กลุ่มอุตสาหกรรมการเงินและการผลิตญี่ปุ่นรับไทยยังน่าสนใจลงทุน เผยเตรียมพร้อมรับ AEC โดยยังมองไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการขยายธุรกิจ หวั่นปัญหาการเมืองยืดเยื้อ เป็นปัจจัยเสี่ยงฉุดความเชื่อมั่นเข้ามาลงทุน รวมหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ผลกระทบจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ การตรวจสอบภายใน และปัญหาการทุจริตฉ้อฉล
 

 

 

นายสุภศักดิ์ กฤษณามระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด (ดีลอยท์ ประเทศไทย)  กล่าวว่า จากการเดินทางพบปะนักลงทุนชาวญี่ปุ่นในสองกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ คือ กลุ่มอุตสาหกรรมการเงิน และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตพบว่า นักลงทุนญี่ปุ่นมองว่าไทย ยังเป็นประเทศที่น่าสนใจลงทุนเนื่องจากมีปัจจัยเกื้อหนุนหลายด้าน อีกทั้งญี่ปุ่นมีการลงทุนในประเทศไทยมายาวนาน มีการสร้างฐานลูกค้าขนาดใหญ่และขยายกำลังการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ได้กำหนดให้ไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า สถานการณ์การเมืองของไทยที่ยังคงหาข้อสรุปไม่ได้และมีแนวโน้มยืดเยื้อในขณะนี้ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ฉุดความเชื่อมั่นในการเข้ามาลงทุนเพิ่มของนักลงทุนญี่ปุ่น

 

 

“นักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยอมรับว่า มีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาด้านเสถียรภาพของรัฐบาล และสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองไทยที่มีแนวโน้มยืดเยื้อบานปลาย ซึ่งเราก็ได้มีการประเมินสถานการณ์ตามความเหมาะสม และแจ้งลูกค้าถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นระยะๆ” นายสุภศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้สำหรับภาคการเงิน นอกจากนักลงทุนจะกังวลในเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองแล้ว ยังมีความเป็นห่วงเรื่องการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียในประเทศจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว  ผลกระทบในเชิงลบจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ และโครงสร้างผู้บริหาร กระบวนการทางราชการ รวมถึงบทบาทของคณะกรรมการตรวจสอบ ในขณะที่จุดแข็งของภาคการเงินไทย คือ การบริหารความเสี่ยงและการควบคุมหนี้เสียได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยธนาคารแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ นักลงทุนมองว่า ขนาดและมูลค่าของตลาดการเงินไทยมีความน่าสนใจ และเห็นโอกาสการลงทุนในตลาดการเงินและการเจริญเติบโตของตลาดนี้ในอนาคต

 

 

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน นักลงทุนญี่ปุ่นมีการขยายกำลังการผลิตในไทยมาโดยตลอด โดยมองว่า จุดแข็งของไทยคือ กำลังซื้อภายในประเทศที่แข็งแกร่งและการเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนที่มีศักยภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนจุดอ่อนที่สำคัญยังคงเป็นเรื่องความไม่มั่นคงทางการเมือง การบริหารสินค้าคงคลัง การตรวจสอบภายใน และปัญหาการทุจริตฉ้อฉล

ทั้งนี้นอกจากสองภาคอุตสาหกรรมหลักที่ได้กล่าวไปแล้ว จากการพูดคุยพบว่า มีอีกหลายภาคธุรกิจที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่น ธุรกิจค้าปลีก,อิเล็กทรอนิกส์คอมเมิร์ช, พลังงาน รวมถึงภาคการบริการอื่น อย่างไรก็ตาม จุดอ่อน จุดแข็งต่างๆ รวมถึงสถานการณ์ปัจจุบันของไทย ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนนำมาพิจารณา

 

 

สำหรับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC นั้น นายสุภศักดิ์เล่าว่า นักลงทุน ญี่ปุ่นมีความตื่นตัวและเตรียมพร้อมในการทำธุรกิจอย่างมาก โดยในฐานะที่เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ ดีลอยท์ได้มีการอัพเดทสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศไทยและประเทศสมาชิก AEC และกฎหมายที่สำคัญ ให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงข้อมูลความเสี่ยงในด้านต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นและหนทางการแก้ปัญหา

นอกจากนี้ ดีลอยท์ยังมีหน่วยงาน  Japanese Service Group (JSG) ที่มีผู้บริหารและทีมงานเป็นชาวญี่ปุ่น  เพื่อสร้างการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและความมั่นใจให้กับลูกค้าญี่ปุ่นโดยเฉพาะ  มีการทำงานที่ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มุ่งเป้าไปที่ลูกค้าญี่ปุ่นของบริษัทและกลุ่มลูกค้าธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีความเหมาะสมในการได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จาก BOI เช่น Regional Operating Headquarter (ROH) และเพื่อเพิ่มโอกาสการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นในอนาคต  

“เรามีการประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับดีลอยท์ประเทศญี่ปุ่นและดีลอยท์เซ้าท์อีสต์เอเชีย เพื่อให้มั่นใจว่าการบริการของเราได้สอดประสานไปในทิศทางเดียวกับลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าที่มีสำนักงานใหญ่ในญี่ปุ่นและมีบริษัทลูกในประเทศไทยรวมถึงในหลายประเทศในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้เรายังร่วมมือกับลูกค้าและทีมการตลาดในการหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และนำเสนอแผนปฏิบัติการเพื่อนำมาซึ่งโอกาสที่เป็นไปได้อยู่เสมอ” นายสุภศักดิ์กล่าวสรุป


LastUpdate 03/02/2557 12:10:59 โดย : Admin
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 1:39 am