ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อม.ค. 2557 ของกระทรวงพาณิชย์ สะท้อนให้เห็นว่า แรงกดดันจากเงินเฟ้อที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2557 นี้ยังไม่น่ากังวลมากนักและไม่เป็นปัจจัยกดดันนโยบายการเงิน ธปท.
การประกาศตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคม 2557 ของกระทรวงพาณิชย์ สะท้อนให้เห็นว่า แรงกดดันจากเงินเฟ้อที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2557 นี้ยังไม่น่าเป็นกังวลมากนัก ซึ่งจะส่งผลดีต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยนางสาวอุรวี เงารุ่งเรือง รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคม 2557 อยู่ที่ 106.46 หรือเพิ่มขึ้น 1.93%
หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย ถือเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นในอัตราชะลอตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 3 จากสัญญาณเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นและค่ากระแสไฟฟ้าที่สูงขึ้น
ทั้งนี้พบว่า ราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 3.62% โดยดัชนีราคาหมวดข้าว แป้ง สูงขึ้น 1.63% ราคาเนื้อสัตว์สูงขึ้น 8.28% ไข่และผลิตภัณฑ์นมสูงขึ้น 5.34% ขณะที่ราคาหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 1.07%
คาดว่าเงินเฟ้อทั้งปี 2557 จะอยู่ระหว่าง 2-2.8% ภายใต้การคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพี จะเติบโตที่ 3-5% ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 95-115 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 29-34 บาทต่อดอลลาร์ และรัฐบาลยังคงมาตรการลดค่าครองชีพประชาชน
ส่วนมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า สถานการณ์ทางการเมืองที่น่าจะยังคงอยู่ในช่วงของการหาทางออกในช่วงหลายเดือนข้างหน้า อาจกดดันให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคเป็นไปอย่างระมัดระวัง ซึ่งอาจทำให้การส่งผ่านภาระต้นทุนของผู้ประกอบการมาที่ราคาสินค้าขั้นสุดท้ายทำได้อย่างจำกัด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า
ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะขยับขึ้นไปอยู่ในระดับใกล้เคียงร้อยละ 2.0 (YoY) ในช่วงไตรมาสแรกปี 2557 สูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ย 1.7% ในช่วง 2 ไตรมาสสุดท้ายของปี 2556
สำหรับภาพรวมของทิศทางเงินเฟ้อในปี 2557 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ในกรอบ 2.2-2.6% หรือ เฉลี่ย 2.4% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจมีค่าเฉลี่ยในกรอบ 1.3-1.7% หรือเฉลี่ย1.5% โดยประเมินว่า สัญญาณเงินเฟ้อที่ขยับขึ้นดังกล่าว ยังไม่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายการเงินในเชิงสนับสนุนเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย
ด้านการใช้จ่ายของผู้บริโภคนั้น แม้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อในปี 2557 อาจขยับขึ้นไม่มากนักจากปี 2556 แต่เนื่องจากความกังวลต่อภาระหนี้ครัวเรือนและการขยับขึ้นของราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพบางรายการ เกิดขึ้นท่ามกลางความวิตกของผู้บริโภคบางกลุ่มที่มีรายได้ผันแปรไปตามภาวะเศรษฐกิจ ก็อาจส่งผลทำให้ทิศทางการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนในปี 2557 ฟื้นตัวได้เพียงในกรอบที่ค่อนข้างจำกัดเท่านั้น
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ EIC ระบุว่า แรงกดดันด้านราคายังคงอยู่ในระดับต่ำ เปิดโอกาสให้กนง.ลดดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคมเกิดจากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์อาหารสดในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งถือเป็นปัจจัยชั่วคราว และไม่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectation) ทำให้แรงกดดันด้านราคาจะยังไม่เป็นข้อจำกัดหากกนง. จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งนี้ อีไอซีประเมินเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานปี 2557 น่าจะอยู่ที่ 2.2% และ 1.3% ตามลำดับ
ข่าวเด่น