เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เงินเฟ้อเดือน ม.ค. เร่งตัวขึ้นเป็น 1.9% จากอุปสงค์อาหารสดช่วงตรุษจีน


 

 

EIC วิเคราะห์เงินเฟ้อเดือนมกราคมเร่งขึ้นเกิดจากราคาเนื้อสุกรและผลไม้ที่เพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ช่วงตรุษจีน เป็นปัจจัยชั่วคราว ขณะเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งขึ้นต่อเนื่องเป็น 1.0% แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ

 

 

 

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์หรือ EIC รายงานว่า  กระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคม 2014 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.93%YOY (เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า) เร่งขึ้นจาก 1.67%YOY ในเดือนธันวาคม 2013 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.04%YOY เร่งขึ้นจาก 0.91%YOY ในเดือนที่ผ่านมา

EIC วิเคราะห์ว่า ราคาเนื้อสุกรและผลไม้ที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยหลักทำให้เงินเฟ้อเดือนมกราคมเร่งขึ้น อุปสงค์ต่อเนื้อสุกรและผลไม้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีนทำให้ดัชนีราคาสินค้าในหมวดเนื้อสัตว์และหมวดผลไม้เดือนมกราคมสูงขึ้นถึง 11.15%YOY และ 8.99%YOY เร่งขึ้นจาก 9.42%YOY และ 5.27%YOY ตามลำดับในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ดัชนีราคาสินค้าในหมวดอาหารสดเร่งขึ้นจาก 4.14%YOY ในเดือนธันวาคม 2013 มาอยู่ที่ 4.75%YOY ในเดือนที่ผ่านมา ดังนั้นจึงทำให้เงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคมเร่งตัวขึ้นมาค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับทั้งไตรมาสที่ 4 ของปี 2013 ซึ่งอยู่เพียงราว 1.7%YOY เท่านั้น  

 

 

ด้านเงินเฟ้อพื้นฐานเร่งขึ้นต่อเนื่องเป็น 1.0% แต่ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากดัชนีราคาสินค้าในหมวดอาหารปรุงสำเร็จซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนมกราคมสูงขึ้น 2.86%YOY เร่งขึ้นจาก 2.22%YOY ในเดือนก่อนหน้าตามต้นทุนในการปรุงอาหารเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของราคาวัตถุดิบและราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน จึงทำให้เงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนที่ผ่านมาเร่งขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2013 

การเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งสัญญาณว่า แรงกดดันด้านราคายังคงอยู่ในระดับต่ำ เปิดโอกาสให้กนง.ลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคมเกิดจากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์อาหารสดในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งถือเป็นปัจจัยชั่วคราว และไม่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectation) ทำให้แรงกดดันด้านราคาจะยังไม่เป็นข้อจำกัดหาก กนง. จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งนี้ อีไอซีประเมินเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานปี 2014 อยู่ที่น่าจะ 2.2% และ 1.3% ตามลำดับ

ขณะเดียวกันยังไม่พบสัญญาณการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ สะท้อนจากดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานที่ไม่รวมอาหารซึ่งสะท้อนภาวะการใช้จ่ายในประเทศ ยังค่อนข้างทรงตัวในเดือนมกราคม โดยในเดือนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเพียง 0.48%YOY ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสสุดท้ายจองปี 2013 ที่เพิ่มขึ้น 0.52%YOY


LastUpdate 04/02/2557 14:20:31 โดย : Admin
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 1:59 am