แบงก์-นอนแบงก์
ลีสซิ่งกสิกรไทยตั้งเป้าปี 57 สินเชื่อโต 8.16% ลุยตลาด บิ๊กไบค์ กระบะ บรรทุกรายย่อย


 

 

 

 

ลีสซิ่งกสิกรไทยรุกหนักปีม้า เน้นขยายฐานลูกค้า กลุ่มบิ๊กไบค์ รถกระบะ และรถบรรทุกรายย่อย ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อรวม 80,848 ล้านบาท โตจากปี 56 ที่ 8.16% กำไรที่ 443 ล้านบาท ขยายตัว 9.93% คุม NPL ให้อยู่ที่ระดับ 1.16%

 

 

 

นายอัครนันท์  ฐิตสิริวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2556 ที่ผ่านมา อยู่ในทิศทางเดียวกับตลาดรถยนต์ที่มียอดขายรวมลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโครงการรถยนต์คันแรก และปัญหาทางการเมืองในเขตกรุงเทพ ฯ และปริมณฑล โดยลีสซิ่งกสิกรไทยสามารถปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อใหม่และลีสซิ่งรถยนต์ได้รวม 74,748 ล้านบาท ลดลงจากปี 2555 ประมาณ 14.10% แบ่งเป็นสินเชื่อเช่าซื้อและลีสซิ่งรถยนต์ใหม่ (HP&FL) 39,259 ล้านบาท ลดลง 5.18% และสินเชื่อผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ (Floorplan) 35,489 ล้านบาท ลดลง 22.19% ด้านยอดสินเชื่อคงค้างในระบบ (Outstanding Loan) ของบริษัทอยู่ที่ 89,220 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 7.67% และสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL อยู่ที่ 0.86% ส่งผลให้ปี 2556 หลังจากหักการตั้งสำรองพิเศษเพื่อรองรับความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและอาจเป็นผลกระทบต่อลูกค้าได้ในอนาคต ยังผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิ 472 ล้านบาท (รวมกำไรสุทธิของบริษัท โพรเกรส มัลติ   อินชัวรันส์ โบรกเกอร์ จำกัด บริษัทของบริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด) เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ราว 1.07%  

 

 

อย่างไรก็ตาม แม้สภาพตลาดรถยนต์โดยทั่วไปจะถดถอย แต่ตลาดรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่หรือบิ๊กไบค์ยังมีโอกาสเติบโตขึ้นอีก โดยในปี 2556 ที่ผ่านมา ยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ขนาดเครื่องยนต์สูงกว่า 151 ซีซี อยู่ที่ตัวเลข 69,787 คัน เพิ่มขึ้น 45.5% จากปี 2555 ที่มียอดจดทะเบียน 47,960 คัน โดยปัจจัยที่เป็นแรงผลักสำคัญทำให้ตลาดบิ๊กไบค์ยังขยายไปได้อย่างต่อเนื่อง คือ กลุ่มผู้ซื้อหลักเป็นกลุ่มที่มีฐานะมั่นคงระดับหนึ่ง ทำให้ได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านการเงินน้อยกว่า ขณะเดียวกันการลงทุนผลิตบิ๊กไบค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นจาก ทั้งญี่ปุ่น จีน และยุโรป ที่ทยอยเข้ามาตั้งแต่ปี 2555 ทำให้ราคาขายบิ๊กไบค์ถูกลง ส่งผลให้กลุ่มผู้ซื้อขยายฐานออกไปกว้างมากขึ้น แต่ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ยังเป็นช่วงที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง ที่มีการชุมนุมกันในพื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน ทำให้อารมณ์การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในหมวดยานยนต์อาจได้รับผลกระทบบ้าง

สำหรับทิศทางธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถปี 2557 คาดว่ายอดคงค้างสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถในระบบธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวต่อจากปี 2556 โดยขึ้นอยู่กับโอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งมีส่วนกำหนดความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยคาดว่าปี 2557 การขยายตัวของสินเชื่อเช่าซื้ออาจชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 10% นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่มีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2556 ประกอบกับภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงและเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน ทำให้บริษัทลีสซิ่งต่างให้ความสำคัญกับคุณภาพลูกค้าควบคู่ไปกับการขยายฐานธุรกิจ จึงคาดว่าในปี 2557 จะไม่เห็นการแข่งขันในเรื่องราคาที่รุนแรงหรือการเพิ่มสัดส่วน วงเงินสินเชื่อ ขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อย อาจยังจำเป็นที่ต้องเลี่ยงไปจับตลาดเช่าซื้อสินค้าประเภทอื่นที่มีการแข่งขันน้อยกว่าแทน
       
ด้านธุรกิจสินเชื่อรถแลกเงิน ซึ่งมีทิศทางชะลอตัวค่อนข้างแรงในปี 2556 ที่ผ่าน น่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นได้ในปี 2557 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานที่ต่ำในปีก่อน และอีกส่วนมาจากความต้องการสินเชื่อรายย่อยที่ยังคงมีอยู่ ประกอบกับการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการ ซึ่งในปีนี้น่าจะหันมารุกตลาดนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนดี ใกล้เคียงกับการให้บริการเช่าซื้อรถยนต์มือสอง ภายใต้ความเสี่ยงที่บริหารจัดการด้วยการจำกัดอายุรถไม่เกินประมาณ 12 ปีแล้ว และมีปัจจัยหนุนจากมูลค่ารถใช้แล้วที่น่าจะแตะระดับต่ำสุดไปแล้วในปี 2556 ที่ผ่านมา อีกทั้งการรุกตลาดสินเชื่อดังกล่าว ยังเป็นการขยายฐานลูกค้าออกไป โดยไม่ต้องพึ่งพิงตลาดรถใหม่ที่อยู่ในสภาพชะลอตัวเพียงอย่างเดียว     

 

 

นายอัครนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2557 บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย ยังคงให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อและลีสซิ่งรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเป็นหลัก ขณะเดียวกันบริษัทฯ มีเป้าหมายขยายฐานลูกค้าในกลุ่มรถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่หรือบิ๊กไบค์ รถกระบะ และกลุ่มลูกค้ารถบรรทุกรายย่อยเพิ่มมากขึ้น รวมทั้ง คาดว่าสินเชื่อรถช่วยได้กสิกรไทย จะมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาด ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าการปล่อยสินเชื่อรวม 80,848 ล้านบาท หรือขยายตัวจากปี 2556 ที่ 8.16% พร้อมตั้งเป้ากำไรที่ 443 ล้านบาท ขยายตัว 9.93% พร้อมดูแล NPL ให้อยู่ที่ระดับไม่เกิน 1.16%

ด้านภาพรวมตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2556 ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า จะมียอดขายอยู่ที่ประมาณ 1.32 ล้านคัน หรือหดตัวประมาณ 7% จากปี 2555 ที่ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ประมาณ 1.43 ล้านคัน ในปี 2556 ยอดขายรถยนต์นั่งหดตัวประมาณ 4% ส่วนรถเพื่อการพาณิชย์หดตัวประมาณ 11% เนื่องจากผลของอุปสงค์ที่ถูกดึงไปใช้ล่วงหน้าจากโครงการรถยนต์คันแรก และฐานยอดขายที่ยังสูงมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 โดยเฉพาะหากพิจารณาในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 นี้ คาดว่าตลาดน่าจะยังคงอยู่ในภาวะซบเซาต่อเนื่องมาจากปลายปีที่แล้ว โดยเฉพาะตลาดรถยนต์นั่ง ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันที่ยังคงยืดเยื้อ ซึ่งคนในกรุงเทพถือครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์นั่งรวมถึงร้อยละ 50

ดังนั้นในภาวะที่การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวไม่สะดวกนัก ประกอบกับอารมณ์ของผู้บริโภคในช่วงนี้น้อยลง จึงคาดว่าช่วงไตรมาส 1 ปี 2557 ยอดขายรถยนต์นั่งน่าจะหดตัวค่อนข้างมาก ขณะที่ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ โดยเฉพาะรถกระบะ อาจได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่หดหาย โดยภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และรายได้เกษตรกรยังไม่ดีขึ้น ขณะที่โครงการรับจำนำข้าวยังต้องรอความชัดเจน นอกจากนี้ ราคาสินค้าเกษตรอื่น ๆ ก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่ค่อยดีนักเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จากอุปทานที่ล้นตลาดในตลาดโลก ซึ่งจะเป็นผลกระทบต่อยอดขายรถเพื่อการพาณิชย์ในช่วงครึ่งปีแรกนี้


LastUpdate 05/02/2557 00:17:33 โดย : Admin
23-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 23, 2024, 10:18 am