แบงก์-นอนแบงก์
EXIM BANK โชว์ปี56 กำไรโต 18% ตั้งเป้าโตอย่างมั่นคง 5% ปี57


 

 

 

EXIM BANK โชว์ผลดำเนินการปี 2556 สดใส กำไรสุทธิ 1,303 ล้านบาท โต 18% ปี 2557 ตั้งเป้าสินเชื่อคงค้างโต 3-5%  พร้อมรุกบริการ ขยายขอบเขตการประกัน ประกันส่งออกนานสุด 5 ปี ประกันโครงการนาน 5-7 ปี คุ้มครองความเสี่ยงการเมืองให้โครงการยาว 15 ปีและขยายธุรกรรมการลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน 

 

 

 

 

นายคนิสร์ สุคนธมาน กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)หรือ ธสน. เปิดเผยว่า EXIM BANK ซึ่งเป็นธนาคารที่ถูกตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจให้มีบทบาทสนับสนุนผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะและทำในเรื่องเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกและการที่ผู้ประกอบการไทยจะไปลงทุนต่างประเทศ  ในปี 2556 มีผลการดำเนินการเป็นที่น่าพอใจ มีกำไรสุทธิ 1,303 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18%  จากฐานทุนจดทะเบียน 12,000 ล้านบาทและมีเงินกองทุน  17,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระดับ 1,100  ล้านบาทในปี 2555 มียอดสินเชื่อคงค้างรวมที่  67,527 ล้านบาท จากยอดคงค้างในปีก่อนหน้า 66,676 ล้านบาท ผลจากมีสินเชื่อใหม่ที่เบิกจ่ายเพิ่มขึ้นจำนวน 17,174 ล้านบาทและการชำระคืนของสินเชื่อเดิม 16,670 ล้านบาท  
 
 
ในขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคาร (NPLs Ratio) ทยอยปรับลดลงอยู่ที่ 4.36% มีจำนวนทั้งสิ้น 2,942 ล้านบาทซึ่งไม่ถือว่าสูงเกิน โดยมีสาเหตุมาจากผู้ประกอบการภาคเกษตรไทยมีปัญหาใช้เงินกู้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ แต่ธนาคารมีการกันเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญไว้จำนวน 4,757 ล้านบาท ซึ่งสูงเกินเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพสูงถึง 162%  เพิ่มขึ้นจาก 146 %  ในปี 2555  
“ความสามารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้นของ EXIM BANK เป็นผลมาจากการจัดการให้การขยายตัวหรือการทำธุรกิจของธนาคารไม่สร้างปัญหา  การจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายที่เป็นสัดส่วนของรายได้และต้นทุนทางการเงินให้ดีขึ้น 
นอกจากนี้ยังมีการกันสำรองฯไว้สูงขึ้นเพื่อความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจให้สามารถรับความเสี่ยงในอนาคต เนื่องจากเรามองว่า เราต้องปฏิบัติหน้าที่มากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นในเรื่องการรับประกันและการปล่อยสินเชื่อ การกันสำรองไว้สูงจะทำให้มั่นใจว่า ถ้าเรามีปัญหา เบื้องต้นเราจะช่วยตัวเองได้    ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยและประเทศ และวันนี้เรายังไม่มีปัญหาเรื่องคุณภาพสินเชื่อและยังสามารถทำภารกิจของเราได้อย่างเต็มที่”
 
  
 
ในปี 2556 EXIM BANK มีภารกิจสำคัญหลายอย่าง โดยยังมุ่งเน้นสนับสนุน SMEs โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทำให้มีจำนวนลูกค้า SMEs รายใหม่เพิ่มมา 263 ราย จากที่ทำการตลาดไปทั้งสิ้นหลายพันราย ซึ่งปัจจุบัน EXIM BANK มีจำนวนลูกค้าสินเชื่อที่เป็น SMEs คิดเป็น 80% ของลูกค้าทั้งหมดของธนาคาร มีวงเงินสินเชื่อทั้งสิ้น 48,412 ล้านบาทและมีปริมาณธุรกิจสะสมเฉพาะ SMEs ระหว่างปี 74,676 ล้านบาท มียอดคงค้างสินเชื่อ SMEs  ณ สิ้นปี 19,111 ล้านบาท  ทั้งนี้ SMEs ทั่วไปทั้งประเทศมีประมาณ 3 ล้านราย แต่ SMEs ที่เป็นผู้ส่งออกมีอยู่ประมาณ 22,000 ราย โดยมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 2 ล้านล้านบาท
 
 
นอกจากนี้ EXIM BANK ยังให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อพาณิชนาวี เพื่อนำไปลงทุนด้านเรือขนส่งสินค้าที่ติดธงชาติไทย โดยในปี 2556 มียอดคงค้างสินเชื่อ 9,043 เพิ่มขึ้น 29% จาก 6,998 ล้านบาทในปี 2555 มีการอนุมัติวงเงินสินเชื่อพาณิชยนาวีเพิ่มใหม่ 3,093 ล้านบาทสำหรับเรือ 15 ลำ รวมเป็นจำนวนเรือที่ธนาคารให้การสนับสนุนทั้งสิ้นในปัจจุบัน 46 ลำ คิดเป็นสัดส่วน 10% ของกองเรือไทยที่มีขนาด 1,000DWT (Deadweight Ton) ที่มีอยู่ 480 ลำ
บทบาทสำคัญอีกอย่างของ EXIM BANK คือ การบริการประกันการส่งออก ที่เป็นการประกันความเสี่ยงให้ผู้ประกอบการ โดยปี 2556 มีธุรกิจส่งออกภายใต้การรับประกันสะสม 129,402 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากยอด 135,073 ล้านบาทในปี 2555 เนื่องจากลูกค้าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้ยอดการส่งออกสินค้าเกษตรลดลง ลูกค้าเดิมไม่ต่ออายุกรมธรรม์ตามภาวะส่งออกที่ชะลอตัวลงและการลดภาระค่าใช้จ่ายลง โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้า SMEs ที่มีสัดส่วนมากถึง 75% ของลูกค้าประกันการส่งออกทั้งหมด ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ทำประกันส่งออกมีไม่มากเพียง 1-2 ราย
 
 
ส่วนแผนธุรกิจในปี 2557  นายคนิสร์ กล่าวว่า    EXIM BANK สนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ประกอบการไทยทั่วไปรวมถึง SMEs ต่อไป โดยตั้งเป้าการเติบโตที่ประมาณ 5%  ในแง่ของสินเชื่อคงค้างและในปีนี้จะเน้นเรื่องการรับประกันมากขึ้น ขยายขอบเขตการรับประกัน ขยายธุรกรรมแก่นักลงทุนที่เกี่ยวกับการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งการสนับสนุนสินเชื่อพาณิชยนาวีต่อเนื่อง รวมถึงโครงการที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคมนี้ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยตามตลาด
“ในการขยายขอบเขตการรับประกันคือ แต่เดิมเป็นเรื่องของการบริการประกันส่งออกเป็นระยะสั้นที่คุ้มครองความเสี่ยงด้านการค้าและการเมืองที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่ได้รับการชำระค่าสินค้าภายหลังส่งออกไม่เกิน 180 วัน แต่ต่อไปจะขยายไประยะกลางและระยะยาว ที่ให้การคุ้มครองจากการไม่ได้รับชำระค่าสินค้าและบริการ ก่อนและหลังการส่งออกมีอายุสัญญาได้ถึง 5 ปี

นอกจากนี้จะขยายประกันความเสี่ยงแก่โครงการที่ผู้ประกอบการไทยไปรับในต่างประเทศ ซึ่งเป็นโครงการที่มีการชำระเงินเกิน 6 เดือนขึ้นไป จึงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น การทำประกันจะช่วยป้องกันความเสี่ยงและสร้างความมั่นใจ โดยมีสัญญานาน 5 ปีหรือ 7 ปี รวมถึงประกันความเสี่ยงทางการเมืองแก่การลงทุนที่ได้รับความเสียหายจากรัฐบาลประเทศที่ไปลงทุนนาน 15 ปีส่วนค่าธรรมเนียมจะพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น ดูว่าเขาไปรับจ้างจากผู้ประกอบการรายใดและดูความเสี่ยงของประเทศนั้น ๆ ด้วย “

สำหรับการสนับสนุนการเข้าตลาดประเทศอาเซียนหรือ AEC  นั้นปัจจุบัน EXIM BANK มีวงเงินสินเชื่อโครงการลงทุนระหว่างประเทศรวม 34,845 ล้านบาท ในขณะที่มีวงเงินสำหรับโครงการลงทุนใน CLMV รวม 22,612 ล้านบาท  
 
  

LastUpdate 06/02/2557 08:48:44 โดย : Admin
23-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 23, 2024, 10:33 am