EXIM BANK พร้อมหนุนผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยไปเพื่อนบ้านโซน AEC โดยเฉพาะ CLMV ช่วยลดความเสี่ยง สร้างโอกาสและสนับสนุนสินเชื่อ เมียนมาร์เปิดโอกาสด้านโครงสร้างพื้นฐาน โรงแรม ลาวมีการลงทุนด้านพลังงานสูง หลายกลุ่มไปตั้งฐานการผลิตเวียดนาม กัมพูชา
นายคนิสร์ สุคนธมาน กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)หรือ ธสน.เปิดเผยว่า EXIM BANK พร้อมสนับสนุนทางการเงินแก่นักลงทุนและผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกไทยในเวทีการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศด้วย โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน( AEC)อย่าง CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์และเวียดนาม) ที่EXIM BANK มีวงเงินสำหรับโครงการลงทุนในCLMV ถึง 22,612 ล้านบาทหรือคิดเป็น 65% ของสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศทั้งหมดและมีวงเงินป้องกันความเสี่ยงให้ผู้ประกอบการอยู่ที่ 10,110 ล้านบาท
“ฝ่ายวิจัยEXIM BANK พบว่า แนวโน้มการเป็นคู่ค้าของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านสูงขึ้นและมีเปอร์เซนต์เพิ่มขึ้น ดังนั้นการมี AEC เกิดขึ้น ทำให้แนวโน้มนี้มีทิศทางไปทางบวกอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นบทบาทของ EXIM BANK คือ พยายามจะช่วยลดความเสี่ยง สร้างโอกาสและสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยไปทำธุรกรรมและธุรกิจในประเทศเหล่านี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรับประกันโครงการต่าง ๆ การสนับสนุนสินเชื่อ สภาพคล่องระยะสั้น กลางและยาว รวมถึงความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน"
นายคนิสร์ กล่าวต่อว่า สำหรับอุตสาหกรรมที่น่าลงทุนใน CLMV ในกรณีเมียนมาร์เป็นประเทศที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจ แม้ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้างตรงที่สหรัฐฯยังไม่ได้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าหรือแซงก์ชั่นลง จึงอาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในการลงทุน โดยอุตสาหกรรมที่น่าลงทุน เช่น อุตสาหกรรมโรงแรมที่ปัจจุบันผลตอบแทนค่าพักต่อวันค่อนข้างจะสูงมากและมีข้อจำกัดในการหาที่พัก ชาวไทยเองยังสนใจไปเที่ยวในประเทศเพื่อนบ้านนี้จำนวนมาก แต่การหาที่พักยังเป็นปัญหาอยู่แต่การลงทุนนี้ยังต้องเป็นการร่วมทุนซึ่งจะต้องศึกษากฎหมายร่วมทุนให้ดี
นอกจากด้านโรงแรมแล้ว ในด้านโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานของเมียนมาร์ยังมีความต้องการสูง เมียนมาร์ยังขาดแคลนพลังงาน ส่วนเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะนี้สถานะของภาครัฐเมียนมาร์ที่เพิ่งเปิดประเทศอาจยังมีรายได้ไม่มาก โครงการด้านนี้จึงต้องการการซัพพอร์ตของผู้ที่ต้องการจะเข้าไปทำและอาจจะได้รับการชำระในอนาคต ซึ่ง EXIM BANK จะมีบทบาทเข้ามาช่วยได้ในการช่วยป้องกันความเสี่ยงและเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการระหว่างดำเนินการ การไปช่วยหรือลงทุนในลักษณะดังกล่าวจะทำให้ประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้มีความก้าวหน้าและเจริญขึ้นตามลำดับ และในอนาคตมีแนวโน้มว่าสหรัฐฯจะยกเลิกมาตรการแซงก์ชั่น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเมียนมาร์ให้สามารถเปิดกว้างการลงทุนได้มากขึ้น
“จากการไปเยี่ยมเยียนจะพบว่า บางประเทศเหมือนประเทศไทยในอดีต ศักยภาพของแต่ละประเทศสูงมากกระทรวงพาณิชย์ได้ทำหน้าที่ของเขาโดยพยายามนำผู้ประกอบการไทยไปจับคู่ทำธุรกิจ ขณะที่ภาคเอกชนเองก็ไม่ได้รอภาครัฐ มีการรวมกลุ่มกันเข้าไปหาโอกาส พยายามที่จะขยายฐานการผลิตหรือไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ เพราะมันเป็นโอกาส”
สำหรับในลาว ปัจจุบันมีการลงทุนด้านพลังงานในลาวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้ประกอบการไทยรายใหญ่ ๆที่ไปทำเขื่อนพลังน้ำ ซึ่งจะทำให้ไทยมีพลังงานเพิ่มขึ้นในอนาคตรองรับแนวโน้มความต้องการพลังงานของไทยที่มากขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน
ส่วนที่เวียดนาม มีนักธุรกิจไทยรายใหญ่ เช่น กลุ่มปูน กลุ่มธุรกิจกระดาษและกลุ่มผู้ประกอบการภาคเกษตรไปทำเรื่องของการตั้งฐานผลิตในเวียดนาม ขณะที่กัมพูชาก็มีหลายกลุ่มไปทำในลักษณะเดียวกัน ทั้งด้านเกษตร ป่าไม้ สนามบินและโรงแรม
นายคนิสร์ กล่าวว่า สำหรับกรณีผู้ประกอบการ SMEs ที่จะเข้าไปใน CLMV อาจไม่ใช่เรื่องง่ายและจำเป็นต้องมีความแข็งแรง แต่ละประเทศมีข้อจำกัดแตกต่างกันไป จึงต้องพิจารณาถึงความพร้อมในหลายอย่างและสิทธิประโยชน์ร่วม เช่น การลดต้นทุนด้านค่าแรง หรือ สิทธิประโยชน์ด้านภาษี โดยผู้ประกอบการและนักลงทุนสามารถไปขอข้อมูลการลงทุนได้จากหลายหน่วยงานนอกจาก EXIM BANK สถานทูต ทูตพาณิชย์และ BOI
ด้านนายจารุพัฒน์ พานิชยิ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายรับประกันการส่งออกของ EXIM BANK เปิดเผยภาพรวมการลงทุนของ CLMV ว่า การโยกย้ายการลงทุนไปเพื่อนบ้านมีให้เห็นตั้งแต่ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เพื่อแสวงหาโอกาสต่าง ๆ อาทิ การไปหาแหล่งวัตถุดิบ การไปเพื่อหนีปัญหาเช่น ด้านค่าแรงสูงและให้ได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี
นายจารุพัฒน์ยังชี้ว่า กรณีของเมียนมาร์ให้โอกาสในเรื่องของการมีทรัพยากรมาก กำลังซื้อสูงและให้โอกาสด้านการส่งออก ส่วนอุตสาหกรรมที่น่าลงทุนได้แก่ อุตสาหกรรมโรงแรม ท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอย่างร้านอาหาร สปา เป็นต้น นอกเหนือจากนี้ยังมีด้านพลังงานซึ่งเป็นสิ่งที่เมียนมาร์ยังขาด มีปัญหาไฟฟ้าดับบ่อยเนื่องจากมีซัพพลายเพียงประมาณ 30%เท่านั้น จึงเป็นโอกาสของนักลงทุนไทย
ด้านลาวเป็นตลาดเล็ก ๆ แต่มีทรัพยากร มีโอกาสการลงทุนด้านพลังงาน ในกัมพูชามีการลงทุนกันมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาด้านโรงแรม สนามบิน ประปา มีการตั้งนิคมของไทยเพื่อรองรับด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอ ส่วนที่เวียดนาม มีนักลงทุนไทยไปลงทุนด้านสิ่งทอ โรงกลั่นน้ำมันของปตท.
สำหรับประเทศที่ EXIM BANK ให้บริการประกันการลงทุนมากที่สุดได้แก่ ลาว ที่มีสัดส่วนสูงถึง 80% โดยเป็นประกันการลงทุนโครงการพลังงานเป็นระยะยาว รองลงมาเป็นเมียนมาร์และกัมพูชาอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน
ข่าวเด่น