เอกชนร้องรัฐยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้กระทบความเชื่อมั่นการค้า-การลงทุน ท่องเที่ยว ทำให้มียอดขายสินค้าและบริการลดลง
หลังจากที่ ครม. มีมติเห็นชอบการประกาศบังคับใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2557 เป็นเวลา 60 วัน
ผู้ประกอบการภาคเอกชน ต่างก็ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว และล่าสุดได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศใช้ โดยนายสมมาต ขุนเศษฐ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า รัฐบาลควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มีผลทำให้ยอดขายสินค้าและบริการลดลง ส่วนภาคธุรกิจ ต้องลดค่าใช้จ่ายทุกด้าน เพราะกำลังซื้อลดลง ทำให้สต็อกสินค้าคงค้างเพิ่มขึ้น เพื่อรับมือกับการเมืองที่ยืดเยื้อ
ทั้งนี้ขณะที่มีการชุมนุม การท่องเที่ยวไทยยังไม่ได้กระทบอะไร แต่พอรัฐบาลประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินกลายเป็นปัจจัยที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจทันที เพราะต่างชาติขาดความเชื่อมั่นว่า เข้ามาแล้วจะปลอดภัยหรือไม่ จึงเห็นว่าไม่มีเหตุผลใดที่จะคงไว้ ทั้งที่การชุมนุมไม่ได้รุนแรงและการเลือกตั้งก็จบไปแล้ว
สอดคล้องกับนายชนินทร์ จิตต์โกมุท นายกสมาคมรองเท้าไทย ที่ระบุว่า ต้องการให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างเร่งด่วน เนื่องจากหลังประกาศส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นการค้าและการลงทุนของไทยอย่างมาก ทำให้ที่ผ่านมาทั้งการท่องเที่ยวและการเดินทางมาเจรจาธุรกิจของคนต่างชาติยกเลิกไปพอสมควร ซึ่งหากคงไว้นานจะยิ่งกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของไทยโดยตรง
ขณะที่นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ยอมรับว่า การที่รัฐบาลประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้กระทบต่อการส่งออกสินค้าทางอากาศ เนื่องจากอัตรานักท่องเที่ยวเข้ามาไทยลดลง ทำให้จำนวนเครื่องบินเข้ามาไทยลดลง ส่งผลต่อเนื่องให้ค่าระวางการขนส่ง ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้มีการเรียกเก็บค่าความเสี่ยงในการขนส่ง (Security Surcharge) เพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง และยังส่งผลต่อความมั่นใจของผู้ซื้อต่างชาติ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลยกเลิกประกาศใช้พ.ร.บ.ฉุกเฉินโดยเร็ว
ส่วนการส่งออกระยะสั้น คงจะได้รับผลกระทบไม่มาก แต่จะส่งผลกระทบระยะยาว โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์และได้รับการตรวจสอบจากต่างชาติ เพราะคู่ค้าต่างชาติลดการเดินทางเข้ามายังประเทศไทย เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัย ซึ่งหากสถานการณ์ยืดเยื้อก็อาจจะย้ายไปซื้อจากประเทศอื่นได้
ส่วนนางพรทิพย์ หิรัญเกตุ รองประธานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ผลกระทบจากการเมืองหลังจากเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน และขาดภาครัฐที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมท่องเที่ยวโดยตรง ทำให้ประเมินเป้าหมายรายได้ท่องเที่ยวปีนี้จะไม่ถึง 2 ล้านล้านบาทตามที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้แล้ว โดยสถานการณ์ดีที่สุดอาจทำได้เพียงประคองรายได้ 1.8 ล้านล้านบาทเท่ากับปีก่อน แต่หากได้รับผลกระทบมากขึ้นรายได้ก็จะลดลงไปราว 10%
ทั้งนี้ ยอมรับว่าขณะนี้ผู้ประกอบการภาคเอกชนต้องขับเคลื่อนธุรกิจให้อยู่รอดด้วยตัวเอง รวมถึงวางแผนตั้งรับให้อยู่ได้ในภาวะที่การเมืองยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่มีสัดส่วนราว 70-18% โดยขณะนี้ได้รับความช่วยเหลือจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นหน่วยงานเดียวที่ยังทำการตลาดและมีงบประมาณขับเคลื่อนได้ และเริ่มมีการขยายจุดหมายการขายทัวร์ไปยังจังหวัดรอบนอกกรุงเทพฯ มากขึ้น หรือไปยังจุดอื่นๆ ในกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้รับผลกระทบ เช่น โรงแรมติดแม่น้ำเจ้าพระยาที่ยัง มีลูกค้าเข้าพักต่อเนื่อง
ข่าวเด่น