สศช.เผยปี 2556 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.9% จากที่เคยขยาย 6.5% ปี 2555 ไตรมาส 4/2556 ขยายตัวเพียง 0.6% เนื่องจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลง 4.5% ความเชื่อมั่นหดหายจากเหตุไม่สงบทางการเมือง
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 4/2556 ขยายตัวร้อยละ 0.6 ขณะที่เศรษฐกิจในภาพรวมยังถือว่ามีเสถียรภาพ อัตราการว่างงานยังต่ำที่ร้อยละ 0.7 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 1.7 เมื่อรวมทั้งปี 2556 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.9 ชะลอตัวลงอย่างมากจากที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 ในปี 2555
ทั้งนี้ จีดีพีของไทยในไตรมาสที่ 4/2556 ชะลอตัวลงเนื่องจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ลดลงร้อยละ 4.5 โดยเฉพาะการซื้อรถยนต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งมีนโยบายรถคันแรก ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นผู้บริโภคได้ปรับลดลงเช่นกัน อันมีสาเหตุมาจากการชุมนุมทางการเมือง ขณะที่การลงทุนรวมลดลงร้อยละ 11.3 ทั้งการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน
ด้านการส่งออกในไตรมาสที่ 4/2556 มีมูลค่า 55,884 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.0 เนื่องจากตลาดโลกซบเซาและสินค้าประมงได้รับผลกระทบจากโรคตายด่วนของกุ้ง แต่สินค้าส่งออกกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ยังขยายตัวดี
ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2557 คาดว่ามีแนวโน้มขยายตัวในช่วงร้อยละ 3-4 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวจากภาคการส่งออกที่คาดว่าจะฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งมองว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 3.1 ในปี 2556 ขณะที่การท่องเที่ยวคาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง และการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐในส่วนที่ได้มีการผูกพันไว้แล้ว รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้
ดังนั้น การบริหารเศรษฐกิจในปี 2557 จึงมีแนวทางดังนี้ 1.การเร่งรัดการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้เต็มศักยภาพ 2.การกำกับดูแลแผนงานและโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้วให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง 3.การดำเนินนโยบายทางการเงินที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้มีความผันผวนจนเกินไป รวมทั้งดูแลสภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจและการเข้าถึงเงินทุนของภาคธุรกิจ และ 4.การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้ง
ข่าวเด่น