การรักษาภาพลักษณ์เป็นสิ่งที่ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ให้น้ำหนักและพยายามรักษาให้ดีที่สุด หากภาพลักษณ์ไม่ดีย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงตามมาได้ ดังกรณีธนาคารออมสินปล่อยกู้ผ่านตลาดอินเตอร์แบงก์ให้ธ.ก.ส.ล่าสุด
“ภาพลักษณ์” เป็นสิ่งที่ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ จะให้น้ำหนักและพยายามรักษาให้ดีที่สุด ในสายตาของลูกค้าที่ใช้บริการเงินฝากและสินเชื่อ เพื่อให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในตัวธนาคาร ซึ่งหากภาพลักษณ์ของธนาคารไม่ดีก็จะมีผลกระทบอย่างรุนแรง เห็นได้จากกรณีการปล่อยกู้ของธนาคารออมสินผ่านตลาดอินเตอร์แบงก์ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จนทำให้ลูกค้าเงินฝากของธนาคารแห่ถอนเงินเป็นจำนวนมาก
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน นายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ยอมรับว่า หลังมีข่าวธนาคารปล่อยเงินกู้ให้ธ.ก.ส. ทำให้ผู้ฝากแห่ถอนเงินจากธนาคารมากถึง 30,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นลูกค้ารายย่อยในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงภาคใต้บางพื้นที่ ที่มีสัดส่วนเงินฝากในพอร์ตราว 40% ขณะเดียวกันมียอดฝากเงินเข้ามาจำนวน 10,000 ล้านบาท ทำให้มีการถอนเงินสุทธิ 20,000 ล้านบาท จากปกติมีการถอนในช่วงวันหยุดยาวประมาณ 7,000 ล้านบาท
แม้ธนาคารออมสินจะยืนยันว่า การปล่อยสินเชื่อให้ ธ.ก.ส.เป็นเพียงเพื่อการเพิ่มสภาพคล่องเท่านั้น หาก ธ.ก.ส.นำเงินไปชำระหนี้ในโครงการรับจำนำข้าว ก็เป็นสิ่งที่ทาง ธ.ก.ส. จะต้องรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับธนาคารออมสินแต่อย่างใด แต่เพื่อความสบายในของผู้ฝากเงิน ธนาคารก็จะระงับเงินกู้ในส่วนที่เหลืออีก 15,000 ล้านบาท
การแห่ถอนเงินจากธนาคารออมสิน ยังได้สร้างความกังวลให้กับสมาคมธนาคารไทย ที่อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์อื่นอาจได้รับผลกระทบและถูกแห่ถอนเงินตามไปด้วย โดยนายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ถึงกับยอมรับว่า เป็นห่วง กรณีที่ประชาชนถอนเงินสดออกจากธนาคารออมสิน ที่เกิดจากความสับสนและเข้าใจผิดของประชาชน ดังนั้นผู้บริหารธนาคารและรัฐบาลจะต้องชี้แจงให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ เพื่อระงับปัญหาการถอนเงินจากธนาคารเป็นจำนวนมาก และไม่ให้เกิดความเสียหาย
สำหรับกรณีที่ธนาคารออมสินปล่อยเงินกู้อินเตอร์แบงก์ให้ ธ.ก.ส. นั้น ก็ยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อในครั้งนี้มีความสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย เพราะหาก ธ.ก.ส. นำเงินกู้จากธนาคารออมสิน มาจ่ายหนี้จำนำข้าวคืนให้ชาวนาโดยตรง อาจจะสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย แต่หาก ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ให้เอกชนในการประมูลข้าวในโครงการรับจำนำข้าวและรัฐบาลนำเงินจากการระบายข้าวมาคืนชาวนานั้นสามารถทำได้
นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงการปล่อยสินเชื่อระหว่างธนาคารครั้งนี้ จะผิดมาตรฐานทางบัญชีตามวิชาชีพทางบัญชีหรือไม่ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลได้ผิดนัดชำระหนี้ในโครงการรับจำนำข้าวให้ชาวนา ทำให้มีมาตรฐานทางบัญชีมีความเสี่ยง
ส่วนในมุมมองของนักวิชาการ ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีที่ประชาชนเข้าไปถอนเงินฝากจากธนาคารออมสินว่า ในหลักการการดำเนินการของธนาคารจะต้องระวังเรื่องภาพพจน์ ที่ต้องคำนึงถึงความเชื่อมั่น เพราะหากไม่ระมัดระวังจะทำให้เป็นประเด็นที่เป็นปัญหา
ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ สถานการณ์อาจจะคล้ายๆ กับวิกฤตปี 2540 ที่มีคนแห่ถอนเงินจากธนาคาร หากเป็นเพียงธนาคารเดียวอาจจะไม่เป็นอะไร แต่หากเอาไม่อยู่และลามไปเรื่อยๆ ก็อาจจะมีปัญหาบานปลาย
ข่าวเด่น