แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาทางด้านการเมืองส่งผลให้หลายธุรกิจต้องชะลอตัวไปบ้าง เช่นเดียวกับธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัลที่ออกมายอมรับว่า ปัจจัยลบทางการเมืองที่เกิดขึ้นในครั้งนี้อาจส่งผลกระทบในด้านของยอดขายประมาณ 1-2% แต่หากนำมารวมกับภาพรวมทั้งปีแล้ว กลุ่มเซ็นทรัลยังมั่นใจว่า ปีนี้จะยังสามารถเติบโตได้ในตัวเลข 2 หลัก หรือเติบโตประมาณ 14%
ปัจจัยที่ทำให้กลุ่มเซ็นทรัลมีความมั่นใจว่าปีนี้จะมีรายได้เติบได้ถึง 14% คือ การเดินหน้าขยายธุรกิจในเครืออย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจัยลบทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ หากนำมาเปรียบเทียบกับช่วง 6 ปีที่ผ่านมาถือว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่หนักหนามากนัก เพราะจากวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ หรือการเมืองประเทศไทยล้วนผ่านมาหมดแล้ว จึงถือเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีสำหรับปัจจัยลบที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัดกล่าวว่า แม้ว่าปัจจัยลบที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัล แต่บริษัทก็มั่นใจว่า ภาพรวมทั้งปีจะเติบโตได้ที่ 14% แม้ว่าหลายฝ่ายจะมองว่าปัญหาการเมืองอาจมีความยืดเยื้อไปอย่างน้อย 6 เดือน แต่บริษัทก็มองว่าช่วงที่แย่ที่สุดได้ผ่านไปแล้ว หลังจากนี้เพียงรอดูสถานการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป และจะจบลงอย่างไร ซึ่งหากจบลงด้วยดีประเทศก็จะดีขึ้น ในแง่ของกำลังซื้ออาจจะกระทบบ้างโดยเฉพาะในเรื่องของอารมณ์ในการใช้จ่าย และภาพรวมโดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวยังดีอยู่ แม้เวลานี้จะมีปัญหาเรื่องการจำนำข้าวเพิ่มขึ้นมาก็ตาม
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัลในปีนี้ ได้มีการแยกธุรกิจออกเป็น 8 หน่วยจากเดิมมีเพียง 5 หน่วยธุรกิจเท่านั้น เนื่องจากต้องการให้ธุรกิจเกิดการผนึกกำลังในการทำงานกันอย่างใกล้ชิดและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพราะกลุ่มเซ็นทรัลมีเป้าหมายที่จะขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่องหลังจากนี้ เพื่อผลักดันให้อีก 5-10 ปี มีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มเป็น 30-50% จากปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพียง 15% ครอบคลุม 15 ประเทศทั่วโลก
หน่วยธุรกิจใหม่ที่กลุ่มเซ็นทรัลได้ประกาศแผนแยกออกมาเป็น 8 หน่วยในปีนี้ ประกอบด้วย 1. กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า หรือ DSG ภายใต้การดูแลของ นางยุวดี จิราธิวัฒน์ 2. กลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภค บริโภค หรือ FMCG ภายใต้การดูแลของ นายปาสคาล บิลโลว์ 3. กลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้าง สินค้าตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือ HDLG ดูแลโดยนายสุทธิสาร จิราธิวัฒน์ 4. กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์เครื่องเขียน หนังสือ และออนไลน์ หรือ OFMG ดูแลโดยนายวรวุฒิ อุ่นใจ 5. กลุ่มธุรกิจศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์ หรือ CPN ภายใต้การดูแลของนายปรีชา เอกคุณากูล 6. กลุ่มธุรกิจบริหารและจัดการสินค้านำเข้า หรือ CMG ภายใต้การดูแลโดยนายพิชัย จิราธิวัฒน์ 7. กลุ่มธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต หรือ CHR โดยนายธีระยุทธ จิราธิวัฒน์ และ 8. กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร หรือ CRG ดูแลโดยนายธีรเดช จิราธิวัฒน์
นอกจากนี้ ยังได้วางยุทธ์ศาสตร์ของการดำเนินธุรกิจไว้ด้วยกัน 4 ข้อ ประกอบด้วย 1 .Branding สิ่งสำคัญคือ การโฟกัสที่ธุรกิจหลักและแบรนด์หลัก เพื่อนำมาต่อยอดความสำเร็จจากในอดีต ด้วยการมุ่งสร้างแบรนด์ให้เป็นอันดับ 1 ในใจผู้บริโภคและลูกค้าในเซกเม้นท์นั้นๆ พร้อมกับสร้างจุดต่างผ่านประสบการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับแบรนด์ภายใต้กลุ่มเซ็นทรัลผ่านคุณภาพทั้งในด้านของสินค้าและบริการ 2.People ทีมงานถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างธุรกิจและวางแผน ซึ่งทุกอย่างจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้หากไม่มีทีมงานที่ดี
อีกส่วนหนึ่งที่กลุ่มเซ็นทรัลจะให้ความสำคัญมากขึ้นคือ การสร้างระบบเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เมื่อธุรกิจมีการขยายตัว กลุ่มเซ็นทรัลจึงต้องการทีมผู้บริหารที่มีความมุ่งมั่น มีวิสัยทัศน์ เพื่อมาบริหารงาน เพื่อต่อยอดความสำเร็จ ขณะเดียวกันทีมงานที่นำมาร่วมงานก็ต้องมีประสิทธิภาพ มีความตั้งใจ และพร้อมที่จะเปลี่ยนนโยบายให้กลายเป็นภาคปฏิบัติได้
3.Synergyทุกกลุ่มธุรกิจภายในกลุ่มเซ็นทรัลต้องมีความเชื่อมโยงและเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน ซึ่งนับจากนี้การทำงานของแต่ละกลุ่มจะมีความสอดคล้องกันมากขึ้น เพื่อผสานผลประโยชน์ร่วมกันและเน้นการพัฒนาระบบที่มั่นคงร่วมกัน 4.One-Group จะให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันทุกองค์กรในกลุ่มเซ็นทรัล ด้วยการแบ่งปันความรู้และความเชี่ยวชาญต่อกัน เพื่อพัฒนาศักยภาพของทุกๆธุรกิจในกลุ่มเซ็นทรัลให้มีอัตราการเติบโตอย่างยั่งยืน
จากแนวทางธุรกิจดังกล่าวในปีนี้กลุ่มเซ็นทรัลมีแผนที่จะใช้งบกว่า 44,000 ล้านบาท ในการลงทุนขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งที่เตรียมไว้ดังกล่าวถือว่า มากกว่าปี 2556 ถึง 11,000 ล้านบาท โดยเม็ดเงินการลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในส่วนของธุรกิจห้างสรรพสินค้า หรือDSG และธุรกิจศูนย์การค้า หรือ CPN ซึ่งทำเลหลักที่ให้ความสนใจเข้าไปขยายธุรกิจคือ ตลาดต่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำศูนย์การค้าระดับอาเซียนใน 10 ปีนับจากนี้
ส่วนของธุรกิจห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าที่กลุ่มเซ็นทรัลได้เข้าไปลงทุนแล้ว และคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการในปีนี้ ประกอบด้วย โครงการเซ็นทรัลพลาซา ไอซิตี้ ที่ประเทศมาเลเซีย, ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล แกรนด์ ประเทศอินโดนีเซีย, ห้างสรรพสินค้าโรบินสันที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งปีนี้มีแผนจะเปิดให้บริการ 2 สาขา และการขยายรีเทล เช่น ร้านคร็อกส์ ซูเปอร์สปอร์ต และร้านนิวบาลานซ์ในประเทศเวียดนามรวมอีกกว่า 40 เอาต์เลต เพื่อนำร่องขยายฐานลูกค้า
สำหรับแผนการขยายสาขาในประเทศนั้น ปีนี้กลุ่มเซ็นทรัลจะเปิดศูนย์การค้ารวม 8 สาขา แบ่งเป็นศูนย์การค้าเซ็นทรัล2 สาขา และห้างสรรพสินค้าโรบินสัน 5 สาขา และศูนย์การค้าเซ็นทรัลเอ็มบาสซี่ 1 สาขา ขณะที่แฟมิลี่มาร์ท ภายใต้การดูแลของ FMCG จะเปิดเพิ่มอีก 308 สาขา และทางกลุ่ม HDLG เปิดไทวัสดุเพิ่ม 6 สาขา และเปิด “บ้าน แอนด์ บียอนด์” อีกในหลายจังหวัดส่วนกลุ่ม CHR จะเพิ่มจำนวนการบริหารโรงแรมเพิ่มอีก 10 แห่งทั่วโลก และกลุ่ม CRG จะเพิ่มจำนวนร้านอาหารอีกกว่า 109 สาขา
แผนการดำเนินงานดังกล่าว ส่วนหนึ่งเกิดจากการปูทางขยายธุรกิจในปี 2556 ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นในด้านของธุรกิจศูนย์การค้า การเปิดตัวแบรนด์ใหม่ หรือการเปิดตัวโครงการไบฟ์สไตล์ในรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงการนำธุรกิจในเครือเข้าไปขยายในตลาดต่างประเทศ โดยในส่วนของศูนย์การค้าใหม่ที่ได้เปิดตัวไปเมื่อปีที่ผ่านมามีจำนวน 3 สาขา คือ เซ็นทรัล อุดรธานี เซ็นทรัลอุบลราชานี และเซ็นทรัลเฟสติวัลเชียงใหม่ ส่วนกลุ่มห้างสรรพสินค้าแบ่งเป็นห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล2 สาขา และห้างสรรพสินค้าโรบินสัน 5 สาขา
นอกจากนี้ยังมีการขยายร้านไทวัสดุ ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายอุปกรณ์ก่อสร้าง 12 สาขา ร้านออฟฟิศเมท หรือร้านจำหน่ายอุปกรณ์สำนักงาน 8 สาขา และร้านแฟมิลี่มาร์ท หรือร้านสะดวกซื้ออีกประมาณ 266 สาขา พร้อมกันนี้ยังได้มีการเปิดตัวธุรกิจค้าปลีกแบรนด์ใหม่ในส่วนของแบรนด์ ซูเปอร์คุ้ม และแบรนด์ ซูเปอร์ คุ้ม ขายส่ง ซึ่งเป็นร้านซูเปอร์มาร์เก็ตในรูปแบบขายส่ง และการเปิดตัวร้าน บ้าน แอนด์ บี ยอนด์ หรือดีพาร์ทเม้นท์สโตร์สำหรับที่อยู่อาศัยเป็นครั้งแรก เพื่อให้สอดรับกับการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
การรีแบรนด์ศูนย์การค้าให้มีความทันสมัยถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจของกลุ่มเซ็นทรัลที่ได้ดำเนินการไปเมื่อปีที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นคือ การรีแบรนด์ศูนย์การค้าจิวเวลรี่ เทรด เซ็นเตอร์ ภายใต้ชื่อใหม่ เจ ที ซี พร้อมเปิดตัว บางกอก แฟชั่น เอาท์เลท และโครงการกรู๊ฟว์แอทเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อสร้างความแตกต่างและตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป
สำหรับตลาดต่างประเทศปีที่ผ่านมากลุ่มเซ็นทรัลได้มอบหมายหน้าที่ให้กลุ่มรีเทลเข้าซื้อกิจการของห้างสรรพสินค้าอิลลุม ตั้งอยู่ในกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก การนำร้านซูเปอร์สปอร์ต ไปเปิดให้บริการในประเทศเวียดนามในรูปแบบมัลติแบรนด์และการนำแบรนด์แฟชั่นใหม่ๆ ของกลุ่มเซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้งกรุ๊ป หรือ CMG เข้าไปเปิดให้บริการในต่างประเทศเพิ่มขึ้น
จากแนวทางธุรกิจที่ปูพื้นฐานไว้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และในปีนี้ก็พร้อมที่จะเดินหน้าสานต่อธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้กลุ่มเซ็นทรัลมั่นใจว่า จะทำให้ภาพรวมรายได้ในปีนี้มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 267,000 ล้านบาท เติบโต 14% เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 233,933 ล้านบาท เติบโต 19% เมื่อเทียบกับปี 2555 ซึ่งธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุดคือ กลุ่มธุรกิจโรงแรมมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 25% ตามด้วยกลุ่มธุรกิจค้าปลีกเติบโต 18% กลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เติบโต 16% กลุ่มธุรกิจค้าส่ง เติบโต 15% และกลุ่มธุรกิจอาหารเติบโตอยู่ที่ประมาณ 8%
นายทศกล่าวปิดท้ายว่า แม้ว่าเป้าหมายการเติบโต 14% ในปีนี้จะดูเหมือนน้อยกว่าปี2556 ที่มีอัตราการเติบสูงถึง 19% แต่โดยรวมแล้วถือว่ายังดีอยู่ เพราะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาทางกลุ่มเซ็นทรัลมีการลงทุนค่อนข้างสูงทำให้การเติบโตอยู่ในระดับ 20% มาตลอด ส่วนในปีนี้เชื่อว่าการเติบโตมาจากธุรกิจใหม่ๆ ที่ได้ลงทุนมา ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่มองว่าจะยืดเยื้อไปอีก 6 เดือน แต่เชื่อว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรง ขณะที่ผู้บริโภคก็เริ่มคุ้นชินและปรับตัวได้ด้วยการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ประกอบกับมีปัจจัยบวกเรื่องค่าเงินที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การส่งออกดีขึ้น และท่องเที่ยวกลับมาเติบโต จึงทำให้มั่นใจว่าปีนี้จะเป็นอีกหนึ่งปีที่ดีของไทยและของกลุ่มเซ็นทรัล.
ข่าวเด่น