เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
จับสัญญาณธปท.ลดดอกเบี้ยอุ้มเศรษฐกิจ


 

 

 

จับสัญญาณธปท.ลดดอกเบี้ยอุ้มเศรษฐกิจ หลังความวุ่นวายทางการเมืองยืดเยื้อ กระทบภาคธุรกิจขนาดเล็ก

 

 

ความวุ่นวายทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานานกว่า 3 เดือน   ผลกระทบเริ่มแผ่กระจายในสู่ภาคธุรกิจ   โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็ก (SMEs) ที่มีสายป่านด้านเงินทุนไม่มากนักเมื่อเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่ นายปฏิมา จีระแพทย์  ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ยอมรับว่า จากการสุ่มสำรวจข้อมูลจากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ทั่วประเทศ 500 ราย   พบว่า ในเดือน ก.พ.2557 นี้ มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบทางการเมืองรุนแรงสูงถึง 56%   โดยเมื่อเปรียบเทียบจากผลสำรวจเดือน ม.ค.2557 พบว่ามีผู้ได้รับผลกระทบรุนแรง 38%

และจากการพูดคุยกับผู้ประกอบการขนาดกลางรายหนึ่งพบว่า  ยอดขายลดลงไปถึง 30%   และผู้ประกอบการเครื่องดื่มบางรายลดลงประมาณ 20-30%    ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมใจกลางเมืองยอดขายลดลงจากปลายปี 2556 ถึง 40%  โดยในส่วนของตลาดนัดสวนจตุจักรในเดือน ม.ค.2557 ที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปถึง 98%   นักท่องเที่ยวชาวไทยหายไป 63% และมีร้านค้าปิดตัวลง 32% 

สาเหตุสำคัญมาจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน    ทำให้ผู้ซื้อจากต่างชาติหายไปมาก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบรุนแรง   แต่ สสว.ก็ยังไม่ปรับเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอสเอ็มอี เนื่องจากในปี 2557 นี้   โดยจะต้องรอดูสถานการณ์อีกระยะหนึ่ง   

ขณะเดียวกันสสว.ก็ได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใน 3 มาตรการหลัก ได้แก่  มาตรการช่วยเหลือด้านการเงิน การตลาด และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการ โดยมาตรการช่วยเหลือด้านการเงิน สสว.ได้รับความร่วมมือจาก 5 ธนาคาร  ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพฯ ธนาคารกสิกรไทย เป็นต้น โดยสถาบันการเงินเหล่านี้จะให้ความช่วยเหลือ อาทิ การพักชำระเงินต้นจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยเป็นเวลา 6-12 เดือน และการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ ระยะเวลา 3-12 เดือน เป็นต้น คาดมีเอสเอ็มอีมาขอความช่วยเหลือ 2 หมื่นราย

 

 

ขณะที่ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ยอมรับว่า  วิตกกับภาวะชะลอตัวของการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ   เนื่องจากสถานการณ์วุ่นวายทางการเมือง  เพราะการบริโภคและการลงทุน ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว   ซึ่งการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งต่อไปใน วันที่ 12 มี.ค.นี้  ก็จะนำปัจจัยเสี่ยงนี้มาพิจารณาเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย  แต่มีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันที่ 2.25%  จะลดลงได้อีก

ส่วนการปรับลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)   ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่อาจส่งผลให้เงินทุนต่างประเทศไหลออก   ธปท.เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องใหญ่มากนักสำหรับไทย เพราะเศรษฐกิจของไทยโดยรวมมีความสมดุล

 

 

 

ด้านมุมมองของภาคเอกชนเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยนโยบาย  นายกฤษณ์  จันทโนทก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจเงินฝาก การลงทุน ประกันภัยและธนบดี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า การใช้นโยบายการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดดอกเบี้ยลงนั้น ธปท.   ต้องประเมินผลที่อาจยิ่งกระตุ้นให้เงินไหลออก อีกทั้งอาจไม่มีส่วนในการช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนมากนัก   เนื่องจากยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

 

 

ขณะที่อดีตผู้บริหารธปท. นายบัณฑิต  นิจถาวร ประธานกรรมการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เห็นว่า การใช้นโยบายดอกเบี้ยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ  หากมองผลกระทบระยะสั้นที่ต้องการช่วยให้เกิดความมั่นใจต่อการลงทุน   ธปท.อาจพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยลง   แต่หากมองปัจจัยระยะยาวในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินของไทย ก็คงต้องรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ระดับเดิมที่ 2.25% ต่อปี


LastUpdate 21/02/2557 14:19:44 โดย : Admin
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 1:53 am