วิทยาศาสตร์
วศ./ก.วิทย์ฯ ทุ่มงบ 10 ล้าน จับมือ มอ. ยกระดับสินค้า OTOP ภาคใต้ สู่การรับรองมาตรฐาน


 

 

 

กรมวิทยาศาสตร์บริการ(วศ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯร่วมกับศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการส่งออก คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.) เปิดโครงการยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP ในพื้นที่ภาคใต้สู่การรับรองมาตรฐาน เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันและพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชน ให้สามารถยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า ตั้งเป้าถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการผลิตกว่า 1,200 ราย ดันสินค้าOTOP เข้าสู่กระบวนการรับรองมาตรฐานกว่า 300 ผลิตภัณฑ์

 

 

 

นางสาวเสาวณี  มุสิแดง  อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นประธานเปิด  “โครงการยกระดับคุณภาพสินค้า OTOP ในพื้นที่ภาคใต้ สู่การรับรองมาตรฐาน” พร้อมทั้งแถลงเปิดโครงการร่วมกับ รศ.ดร. พีระพงศ์ ทีฆสกุล รองอธิการบดีฝ่ายระบบวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.) เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ณ โรงแรม บุรีศรีภู อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีผู้ร่วมงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายในพื้นที่ภาคใต้ อาทิ ผู้แทนจากอุตสาหกรรมจังหวัด พัฒนาชุมชน  สาธารณสุขจังหวัด  เกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด  สถาบันการเงิน เครือข่ายผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน OTOP ภาคใต้

นางสาวเสาวณี กล่าวว่า “กรมวิทยาศาสตร์บริการ  กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีบทบาทในการใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันภายใต้ยุทธศาสตร์ประเทศ มุ่งส่งเสริมผู้ผลิตสินค้าภายในประเทศ ด้วยการพัฒนาและยกระดับคุณภาพสินค้าที่เป็นสินค้าOTOP นำไปสู่การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและขยายศักยภาพทางการค้า รวมถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค 

 

 

ในปีงบประมาณ 2557 นี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้ดำเนินงานเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการสินค้า OTOP ในพื้นที่ภาคใต้  โดยได้ร่วมมือกับศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการส่งออก คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มุ่งนำเทคโนโลยีไปปรับปรุงคุณภาพสินค้าและบริการสังคม รวมทั้งการตรวจสอบคุณภาพสินค้า OTOP  เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค   ซึ่งในภาคใต้นี้มีเป้าหมายพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน OTOPจำนวน 100 ราย และภายหลังจากเสร็จสิ้นโครงการมุ่งผลักดันให้สินค้า OTOP ยื่นขอการรับรอง ไม่น้อยกว่า 300 ผลิตภัณฑ์ ภายใต้งบประมาณดำเนินโครงการทั้งสิ้น 10 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายการดำเนินการจัดฝึกอบรมสัมมนาถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านมาตรฐานการผลิตขั้นต้น(Primary GMP) และมาตรฐาน ต่างๆ แก่ผู้ประกอบการสินค้าOTOP อีกไม่น้อยกว่า 1,200 คน ทั่วพื้นที่ภาคใต้”

ทั้งนี้ในพื้นที่ภาคใต้สินค้า OTOP  ประเภทอาหารแปรรูปเป็นสินค้าที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจชุมชน  แต่การผลิตยังผลิตในระดับครัวเรือนตามกรรมวิธีที่สืบทอดต่อๆ กันมา  จึงพบปัญหาเรื่องคุณภาพสินค้าในการผลิตแต่ละรอบมีคุณภาพไม่คงที่ ไม่ได้ตามมาตรฐานด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยระดับสูง  มีปัญหาเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อน ส่งผลต่อคุณภาพและอายุการเก็บรักษาตลอดจนการขอการรับรองมาตรฐานของผลิตภัณฑ์  อีกทั้งไม่มีโรงเรือนผลิตที่แยกเป็นสัดส่วนจากบริเวณที่พักอาศัย จึงทำให้ไม่ผ่านมาตรฐานทางด้านอาหารและยา

ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการส่งออกคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการเครือข่ายที่เข้าร่วมกิจกรรมทดสอบความชำนาญกับกรมวิทยาศาสตร์บริการมาอย่างต่อเนื่องมีความพร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจเพื่อช่วยแก้ปัญหาส่งเสริมขีดความสามารถการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการสินค้า OTOPสามารถยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยสินค้าได้ เนื่องจากมีความพร้อมของห้องปฏิบัติการทดสอบเคมีและจุลชีววิทยาที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน มีผลงานด้านการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและมีโรงงานต้นแบบที่มีเครื่องจักรทันสมัย มีการออกแบบตามหลักสุขลักษณะที่ดีในการผลิตและมีบุคลากรที่มีทักษะในการผลิตตามหลัก GMP และมาตรฐานฮาลาล

 


LastUpdate 19/04/2557 03:23:43 โดย : Admin
23-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 23, 2024, 8:58 pm