ไอที
"สามารถ-ล็อกซเล่ย์-AIT" เปิดบ. "SLA" ลุยตลาดเพื่อนบ้าน รับ AEC


 

 

 

3 ยักษ์ไอซีทีไทย “สามารถ-ล็อกซเล่ย์-AIT ทุ่มงบ 30 ล้านบาทตั้งบริษัทร่วมทุน “SLA” ลุยต่างประเทศ รับกระแส AEC  เน้น CLMV  ตั้งเป้า 1,000 ปี ใน 3 ปี ประเดิมงานแรกใน เมียนมาร์ ราวเม.ย. ร่วมพาร์ทเนอร์ท้องถิ่น

 

 

 


 

 

 

3 บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจสารสนเทศและการสื่อสาร(ICT)ครบวงจรของไทย ได้แก่ บริษัทสามารถคอมมิวนิเคชั่นเซอร์วิส จำกัด หนึ่งในบริษัทลูกของบมจ.สามารถเทเลคอม จับมือบริษัทล็อกเล่ย์ ไวร์เลส จำกัด (มหาชน) หนึ่งในบริษัทย่อยของบมจ.ล็อกซเล่ย์และบมจ.แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AIT  ตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ชื่อ บริษัทเอส แอล เอ เอเชีย จำกัด (SLA Asia Company Limited)  เพื่อดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีไอซีทีอย่างครบวงจร  ตั้งแต่การขายอุปกรณ์ การติดตั้ง วางระบบการสื่อสารและการบริการซ่อมบำรุง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รับกระแสการรวมเป็นตลาดเดียวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) โดยเบื้องต้นเน้นลุยธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์และเวียดนาม)  โดยเฉพาะเมียนมาร์ที่มองว่า มีศักยภาพสูง

 

ทั้งนี้ SLA  มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้นที่ 30 ล้านบาท  โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นเท่า ๆ กัน พร้อมแต่งตั้งนายสุรกิจ เกียรติธนากร เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ผนวกจุดแข็งของทั้ง 3 บริษัทสร้างความแข็งแกร่งขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ ตั้งเป้าสร้างรายได้ที่ 1,000 ล้านบาทใน 3 ปี

 

 

 

 

นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สามารถเทเลคอม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทั้ง 3 บริษัทต่างทำธุรกิจแข่งกันในประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่ต่างมีแผนจะไปลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มเพื่อนบ้าน CLMV   ครั้งนี้จึงเป็นการร่วมมือกันครั้งแรกเพื่อไปทำธุรกิจต่างแดนร่วมมกัน เพราะเล็งเห็นว่า หากแยกกันเข้าไปลงทุนจะแข่งกับบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างประเทศลำบาก เช่น บริษัทจากญี่ปุ่น เพราะต่างเก่งแต่ในประเทศ  ดังนั้นเพื่อความแข็งแรงสู้กับบริษัทยักษ์ต่างประเทศได้ จึงคิดร่วมทุนกันในปีที่แล้วและปีนี้มีงานรออยู่เพื่อจะเข้าไปทำ คาดว่าภายใน 2-3 ปีจะได้เห็นเป็นรูปร่างชัดเจน

 

ด้านนายศิริพงษ์ อุ่นทรพันธุ์ ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยีฯกล่าวว่า  SLA   มีความพร้อม ที่จะประสบความสำเร็จ เนื่องจากSLA จะเป็นการนำประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญของทั้ง 3 บริษัทที่รวมกันราว 30 ปีมาใช้  การมีความพร้อมด้านทุน  การเป็นเพื่อนบ้านที่มีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับไทยและมองเห็นโอกาสมีอยู่มากในระยะยาว ส่วนที่ทำได้เลยเป็นการให้บริการไอที โซลูชั่นที่สามารถทำได้หลายรูปแบบ พร้อมให้บริการกับทั้งธุรกิจเอกชนที่ไปเปิดสำนักงานและภาครัฐ

 

สอดพ้องกับนายเฉลิมโชค ล่ำซำ กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทล็อกซเล่ซ์  ที่กล่าวว่า  ชื่อเสียงและ ประสบการณ์ของทั้ง 3 ฝ่าย บวกกับการเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่นของประเทศเพื่อนบ้านเป็นจุดแข็งสำคัญในการจะเข้าไป เช่น การมีระบบราชการในเมียนมาร์ที่ซับซ้อนคล้ายคลึงกับไทยจะทำให้ SLA มีความได้เปรียบตรงที่สามารถยืดหยุ่น ปรับตัวได้ดีกว่าบริษัทต่างชาติ เป็นต้น ขณะที่นายวัฒน์ชัยกล่าวเสริมว่า  SLA ยังสามารถประหยัดต้นทุนได้อีกทาง เพราะค่าแรง ค่าดีไซน์และงานวิศวกรรม ทั้ง 3 บริษัทมีพร้อมสนับสนุนแล้ว โดยใช้คนไทยทำ ไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติ อีกทั้งแต่ละบริษัทยังมีพันธมิตรหรือหุ้นส่วนที่พร้อมมาสนับสนุนหรือใช้เป็นประโยชน์ได้อีก

 

 

 

 

ด้านนายสุรกิจ ผู้มาเป็น  CEO ของ SLA เปิดเผยว่า  โอกาสที่จะเข้าไปในเพื่อนบ้านแต่ละประเทศแตกต่างกันไป  เบื้องต้นจะเน้นไปที่เมียนมาร์ ลาวและกัมพูชา   ซึ่งคาดว่าภายใน 3 ปีจะสร้างรายได้ประมาณ 1,000 ล้าน เพราะในประเทศเหล่านี้มีการลงทุนในเซคเตอร์ต่าง ๆ สูง  รวมถึงภาคการธนาคาร  ซึ่งธุรกิจต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมีความต้องการด้านไอซีทีและไอที โซลูชั่นที่จะนำเข้าไปจะขึ้นอยู่กับความต้องการและปรับให้เหมาะกับท้องถิ่น

 

นายสุรกิจยังกล่าวต่อว่า สำหรับเป้ารายได้ที่ 1,000 ล้านบาทคาดว่าจะมาจากเมียนมาร์มากกว่า 50%  ซึ่งเมียนมาร์มีประชากรมากกว่า 60 ล้านคนและยังมีความต้องการด้านไอซีที ในขณะที่มูลค่าตลาดโทรคมนาคมอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ทั้งนี้งานแรกของ SLA จะอยู่ในเมียนมาร์ เป็นการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในท้องถิ่น  รับเหมาช่วงในการขยายเครือข่ายและบริการไอที โซลูชั่น จาก กลุ่มTelenor จากประเทศนอร์เวย์ และกลุ่ม Ooredoo จากประเทศกาตาร์ ที่เพิ่งได้รับไลน์เซน จากเมียนมาร์ในการทำโครงข่ายธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งจะต้องขยายเครือข่ายครอบคลุมเมียนมาร์ให้ได้ 25% ภายใน 1 ปีแรก โดยคาดว่าการเจรจาจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคมและ SLA จะเริ่มงานได้ราวเดือนเมษายน

 

สำหรับในลาวนั้น มองว่า แม้ประชากรไม่มากแต่ยังมีความต้องการด้านไอซีที  เน้นงานด้านบริการไอทีโซลูชั่น ส่วนกัมพูชา มองว่า  ยังมีความต้องการจากภาครัฐและบริษัทต่างประเทศ  ซึ่งมองว่า ยังมีความต้องการจากภาครัฐ  เป็นงานด้าน E –Government และด้าน Data Center  สำหรับเวียดนามยังไม่ได้วางเป้าหมายในขณะนี้ เนื่องจากมีบริษัทต่างประเทศเข้าไปมากแล้ว

 

ส่วนอุปสรรคในการเข้าไปทำธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านมีอยู่บ้าง อาทิ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายด้านการลงทุนบ่อยและซับซ้อนของเมียนมาร์ เพราะมีการปรับแก้แล้วหลังจากเพิ่งออกมาได้ไม่นาน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านอัตราแลกเปลี่ยนและหุ้นส่วนท้องถิ่น

 

 

 


LastUpdate 18/04/2557 01:01:16 โดย : Admin
29-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 29, 2024, 9:35 am