แพทย์ศิริราชเจ๋ง ผ่าตัดใส่หัวใจเทียม สำเร็จรายแรกของไทย ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว ทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ชี้เป็นการผ่าตัดที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยได้ดี โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่ไม่สามารถผ่าตัดใหญ่ได้ แต่ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้างที่มีราคาแพง
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลแถลงความสำเร็จครั้งสำคัญ โดยประสบความสำเร็จในการผ่าตัดใส่ “หัวใจเทียม"ให้ผู้ป่วยเป็นรายแรกของไทย ซึ่งผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ นับเป็นการผ่าตัดที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่ไม่สามารถผ่าตัดใหญ่ได้
รศ.นพ.ดำรัส ตรีสุโกศล หัวหน้าศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถกล่าวว่า ภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure) เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวอ่อนรุนแรงเป็นภาวะที่ประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจลดลงและไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ตามปกติ จึงทำให้มีอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรงหรือออกกำลัง ที่สำคัญ มักจะมีอาการหอบ หายใจลำบากด้วย
ทั้งนี้สาเหตุเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตายขนาดใหญ่ หรือเกิดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังติดเชื้อไวรัส โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงเนื่องจากสาเหตุอื่นๆ หรือโรคลิ้นหัวใจรูห์มาติกที่ตีบหรือรั่วรุนแรง โดยพบภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจบีบตัวอ่อนรุนแรงได้ในผู้ป่วยอายุ มากกว่า 65 ปี ถึงร้อยละ 20 และยังพบร่วมกับโรคเรื้อรังอื่นๆหลายๆโรค
ปัจจุบันมีการรักษาหลายอย่างขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย ตั้งแต่การใช้ยา การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบ 2 ห้อง หรือ Cardiac resynchronization therapy (CRT) การ ใส่เครื่องป้องกันกระแสไฟฟ้าลัดวงจรและการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ซึ่งการผ่าตัดมีข้อจำกัด ที่เนื้อเยื่อจะต้องเข้ากันได้ระหว่างผู้รับและผู้บริจาค และจากความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจบีบตัวอ่อนรุนแรงมีความหวังมากขึ้น ด้วยการผ่าตัดใส่หัวใจเทียม ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่มุ่งหวังให้โรคหายขาดในกรณีผู้สูงอายุและผู้ที่ไม่สามารถผ่าตัดใหญ่ได้ และเวลานี้แพทย์ศิริราชสามารถรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีนี้ได้เป็นรายแรกของประเทศไทย
ด้าน ผศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ แพทย์ประจำสาขาวิชาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์และเป็นผู้ผ่าตัดใส่หัวใจเทียมเป็นรายแรกของประเทศไทย กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีประสบการณ์ในการใส่เครื่องพยุงหัวใจมากว่า 20 รายแล้ว ซึ่ง เป็นสถิติการใส่เครื่องพยุงหัวใจมากที่สุดในประเทศไทย โดยที่เครื่องดังกล่าวมีลักษณะการทำงานคล้ายคลึงกับหัวใจเทียม แต่ตัวปั๊มจะอยู่ภายนอกร่างกาย และสามารถใช้งานได้ 1 – 2 เดือน นอกจากนี้เครื่องควบคุมยังมีขนาดใหญ่ จึงไม่สามารถพกพาได้
สำหรับผู้ป่วยรายล่าสุดซึ่งได้แก่ นายวีระกิตติ์ นวสินพงศ์สุข มีภาวะหัวใจล้มเหลวระยะสุดท้าย แต่ไม่สามารถทำการปลูกถ่ายหัวใจได้ เนื่องจากมีความดันโลหิตของปอดสูงมาก จึงมีความจำเป็นต้องใส่หัวใจเทียม " Heartmate II " โดยผ่าตัดไปเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.56 ที่ผ่านมา โดยฝังไว้บริเวณใต้หัวใจเดิมบริเวณหน้าท้องส่วนบน ซึ่งจะมีท่อต่อจากหัวใจเดิม เพื่อดูดเลือดและสูบฉีดเข้าไปในเส้นเลือดใหญ่ผ่านหลอดเลือดเทียม สามารถทำงานแทนหัวใจเดิมและใช้งานได้อย่างน้อย 10 ปี โดยมีสายไฟทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างหัวใจเทียมและเครื่องควบคุมภายนอกบริเวณหน้าท้องของผู้ป่วย ซึ่งเครื่องควบคุมจะต่อเข้ากับแบตเตอรี่ หลังชาร์จเต็มที่แล้วแบตเตอรี่สามารถทำงานได้ 8 - 10 ชั่วโมง
ผศ.นพ.ปรัญญากล่าวต่อว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีการใส่หัวใจเทียมชนิดนี้กว่า 10,000 ราย เพื่อทำงานแทนหัวใจเดิม ในระหว่างที่ผู้ป่วยรอรับการปลูกถ่ายหัวใจ หรือทดแทนหัวใจเดิมในกรณีที่ไม่สามารถรับการปลูกถ่ายหัวใจได้ อย่างไรก็ตาม แม้การใส่หัวใจเทียมแบบใหม่จะเป็นวิธีที่ดี แต่ขณะนี้ยังมีราคาแพง ทำให้สามารถนำมาใช้งานได้ในวงจำกัด โดยเฉพาะค่าอุปกรณ์ที่นำมาใช้มีราคากว่า 11 ล้านบาท อย่างไรก็ดีคณะแพทย์ศิริราชมีความพึงพอใจกับการรักษาคนไข้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี อีกทั้งการรักษานี้ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพของการแพทย์ไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่วงการ แพทย์ทั่วโลกด้วย
พร้อมกันนี้ได้เตือนว่า หากมีอาการบวมที่ขา อาการเหนื่อยง่าย อ่อนแรงเวลาออกแรง มีอาการเหนื่อยเมื่อนอนราบไปได้สักพัก ต้องลุกขึ้นมานั่งแล้วจะดีขึ้น หรืออาการที่หลับไปแล้ว ต้องลุกขึ้นมานั่งหอบเหนื่อยตอนกลางคืน หรือเหนื่อยง่ายแม้กระทั่งทำกิจวัตรประจำวัน ให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อรีบหาทางป้องกันและรักษา
ข่าวเด่น