อสังหาริมทรัพย์
กรมบังคับคดีร่วมกับ UIHJ มุ่งพัฒนาวิชาชีพเจ้าพนักงานบังคับคดี-ระบบการบังคับคดีรับ AEC


 


 

 

กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ เล็งจัดประชุมร่วมระหว่างสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศกับประเทศสมาชิกอาเซียนกลางปี 2557 หวังพัฒนาวิชาชีพเจ้าพนักงานบังคับคดี ระบบการบังคับคดี และพัฒนาความร่วมมือด้านการบังคับคดีระหว่างประเทศ

 

 


ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า ประเทศไทยโดยกรมบังคับคดี สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นเจ้าภาพร่วมกับสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ (Union Internationale des Huissiers de Justice - UIHJ) จะจัดการประชุมร่วมระหว่างสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศกับประเทศสมาชิกอาเซียน ในหัวข้อ “การแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีเลิศว่าด้วยการบังคับคดีระหว่างสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศและประเทศสมาชิกอาเซียน” (Exchanging of Best Practices on Legal Execution between UIHJ and ASEAN Member States) ซึ่งคาดว่า จะจัดประชุมได้ประมาณกลางปี 2557

การประชุมในครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย กฎระเบียบ ประสบการณ์ และแนวทางปฏิบัติที่ดีเลิศในการบังคับคดีของแต่ละประเทศ เพื่อส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเจ้าพนักงานบังคับคดีและเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศระหว่างหน่วยงานและ เจ้าพนักงานบังคับคดี

โดยเป็นจุดเริ่มต้นในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศไทย ประเทศสมาชิกอาเซียน และ UIHJ ในทุกระดับต่อไป ซึ่งมีหัวข้อหลักในการประชุม อาทิ หลักการพื้นฐานของการบังคับคดี วิธีการเข้าถึงข้อมูลบุคคล สถานะของเจ้าพนักงานบังคับคดี ภารกิจของเจ้าพนักงานบังคับคดี มาตรการการบังคับคดี วิธีการคุ้มครองชั่วคราวและการนำเสนอประมวลการบังคับคดีระดับโลก รวมไปถึงการเยี่ยมชมศึกษาดูงานที่กรมบังคับคดี โดยได้เชิญกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 9 ประเทศและประเทศสมาชิก UIHJ ได้แก่ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม สาธารณรัฐเชค สกอตแลนด์ เป็นต้น เข้าร่วมประชุมฯ

การประชุมในครั้งนี้จะเป็นเวทีนำเสนอองค์ความรู้ข้อมูลพื้นฐานด้านการบังคับคดีของประเทศในกลุ่มอาเซียน และการนำเสนอวิธีการปฏิบัติที่ดีเลิศของประเทศสมาชิกUIHJ การแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหา อุปสรรค ซึ่งที่ประชุมได้นำเสนอการพัฒนาแนวทางการปฏิบัติงานด้านการบังคับคดี เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลและการประสานความร่วมมือระหว่างกัน การฝึกอบรมเจ้าพนักงานบังคับคดี การนำเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) มาใช้ในการปฏิบัติงาน และการจัดทำประมวลการบังคับคดีระดับโลก (Global Code of Enforcement) เป็นต้น

ทั้งนี้ กรมบังคับคดีจะได้รับประโยชน์ในการประชุม เพื่อนำข้อมูลต่างๆของแต่ละประเทศมาประยุกต์ใช้  ในการพัฒนาแนวทางการปฏิบัติงานตลอดจนการพัฒนาความร่วมมือด้านการบังคับคดี ระหว่างประเทศต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้การที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก และลงนามในบันทึกความตกลงว่าด้วยความร่วมมือแบบทวิภาคีร่วมกับของ UIHJ เมื่อปี 2547  จะช่วยพัฒนากระบวนการด้านการบังคับคดีแพ่งของไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และจะทำให้ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่จะดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศ เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 เนื่องจากการบังคับคดีแพ่งและคดีล้มละลาย เป็นปัจจัยสำคัญ ในการประกอบธุรกรรมระหว่างประชาชนในประเทศสมาชิก เพราะเป็นกระบวนการอำนวยยุติธรรมในกรณีที่เกิดปัญหาข้อพิพาทระหว่างเอกชนและเป็นตัวชี้วัดความคุ้มค่าในการลงทุนมากเพียงใด หากต้องมีการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล


LastUpdate 24/02/2557 21:15:49 โดย : Admin
08-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 8, 2025, 1:27 pm