ซีพีเอฟแจงปี 56 ผลการดำเนินงานพลาดเป้า กำไรสุทธิ 7,000 ล้านบาท แย่สุดในรอบ 10 ปีหรือลดกว่าปี 55 ถึง 60% ผลจากหลายปัจจัยรุมเร้า แต่มั่นใจจะเติบโตได้ต่อเนื่องและมั่นคงในปี 57 และในระยะ 5 ปีข้างหน้า มียอดขายโตไม่ต่ำกว่า 10 %ต่อปี อาศัยกลยุทธ์หลายอย่าง รวมทุ่มงบลงทุน 5 หมื่นล้านบาท ปีละ 1 หมื่นล้านบาท
นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีพีเอฟ” เผยวิสัยทัศน์การดำเนินงานซีพีเอฟเน้นการเป็นครัวของโลกและมุ่งเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยมีธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ครอบคลุม 12 ประเทศที่มีประชากรมากกว่า 3,000 ล้านคน มีการผลิตขายในไทยมากกว่า 30% และส่งออกไปขายต่างประเทศมากกว่า 60% หรือกว่า 40 ประเทศ ในปี 2556 ที่ผ่านมาซีพีเอฟยังมีการเติบโตกว่าปี 2555 อยู่ 9% โดยมียอดขาย 389,251 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 7,000 ล้านบาท แต่ถือว่าพลาดเป้าหรือต่ำกว่าเป้าถึง 60% นับเป็นกำไรที่แย่ที่สุดในรอบ 10 ปี
สาเหตุเนื่องจากปี 2556 เกิดปัญหาหลายอย่าง เช่น การเกิดโรคตายด่วน หรือ EMS (Early Mortality Syndrome) ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งทั้งในไทย มาเลเซีย เวียดนามและจีน ภาวะผลผลิตล้นตลาดของสัตว์บกอย่างไก่และสุกร ในไทย เวียดนาม ตุรกิจและอินเดีย ส่งผลราคาตกต่ำ ในขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบพวกอาหารสัตว์ราคาสูงขึ้น
อย่างไรก็ดีนายอดิเรกกล่าวว่า ในปี 2557 ตั้งเป้าเติบโตต่อเนื่องด้วยยอดขายเติบโตอย่างน้อย 10% มีมูลค่าอย่างน้อยที่ 450,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าสร้างการเติบโตระยะ 5 ปี (2557-2561) ไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี โดยมุ่งขยายฐานรายได้จากธุรกิจในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 70-75% และประมาณ 20% จะมาจากในประเทศ ในขณะที่ฐานรายได้ในปัจจุบันมีรายได้จากต่างประเทศมากกว่า 60% และในประเทศมากกว่า 30% มั่นใจยอดขายจะสามารถพุ่งแตะระดับ 700,000-800,000 ล้านบาทได้
ทั้งนี้การสร้างธุรกิจที่เติบโตดังกล่าวจะมาจากกลยุทธ์ 3 อย่าง ได้แก่ การมุ่งเติบโตโดยทำธุรกิจอย่างครบวงจร ช่วยเสริมรายได้อย่างต่อเนื่อง การเข้าซื้อธุรกิจเพื่อเสริมหรือมีผลต่อเนื่อง และการมุ่งสร้างความเป็นเลิศในการดำเนินงาน โดยสร้างสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคยอมรับ ซึ่งซีพีเอฟทำธุรกิจอาหารจึงมุ่งผลิตอาหารที่ปลอดภัย ตรวจสอบย้อนหลังได้ ขณะเดียวกับยังเน้นการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการดำเนินงานและผลักดันเป็นองค์กรต้นแบบนวัตกรรมและสนับสนุนให้บุคลากรอยู่ในวัฒนธรรมเดียวกัน ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนสู่ความเป็นเลิศและการเติบโตอย่างยั่งยืน
นายอดิเรกมอง ภาพปี 2557 และภาพรวมระยะ 5 ปีสถานการณ์ในแง่ดี โดยเฉพาะปี 2557 นี้ ซีพีเอฟจะพลิกฟื้นกลับมาดีมากทั้งในแง่ของยอดขายและผลกำไร โดยชี้ว่าการทำกำไรที่ระดับ 10,000 ล้านบาททำได้ไม่ยาก ทั้งนี้เนื่องจากมีสัญญาณหลายอย่างดีขึ้น อาทิ ปัญหาเรื่องกุ้งเรื่องคลี่คลาย เชื่อว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยในช่วงตกต่ำซีพีเอฟขายลูกกุ้งได้ประมาณ 1,000 ล้านตัวต่อเดือนจากประมาณ 3,000 ล้านตัวต่อเดือนในช่วงที่ดี โดยเวลานี้ดีขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 1,700 ล้านตัวและส่งผลดีต่อเนื่องถึงการขายอาหารกุ้งและมีกุ้งป้อนส่งออกเพิ่มขึ้น คาดครึ่งปีหลังจะเห็นภาพการผลิตที่ชัดเจนขึ้น
ส่วนราคาเนื้อสัตว์ได้ปรับดีขึ้นมาแล้วทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้ว ในขณะที่ราคาวัตถุดิบ อาหารสัตว์ราคาลดลงมาแล้ว โดยราคาข้าวโพดลดลงมาถึง 20% นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวสำคัญจากญี่ปุ่นที่อนุญาตให้นำเข้าไก่สดจากไทยได้แล้ว แม้ปีนี้ยังขายไม่มากแต่คาดว่าจะมียอดขายราว 30,000-40,000 ตัน เพราะมักเน้นขายผลิตภัณฑ์ไก่สำเร็จรูปมากกว่า แต่ระยะยาวคาดว่าจะดี
ทั้งนี้ซีพีเอฟเตรียมงบประมาณ 50,000 ล้านบาทเพื่อการลงทุนในระยะ 5 ปี ๆ ละ 10,000 ล้านบาท โดยเน้นการลงทุนในต่างประเทศมากกว่า 50% เพื่อขยายกำลังผลิตในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันฐานการผลิตใหญ่ของซีพีเอฟอยู่ที่จีน ที่เป็นฐานการผลิตใหญ่อันดับ 2 มียอดขายมากกว่า 100,000 ล้านต่อปี นอกจากนี้ยังมีเวียดนาม อินเดีย ไต้หวัน ตุรกีและมาเลเซียส่วนการเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศยังมีการเจรจาซื้อเพื่อต่อยอดธุรกิจเดิมและขยายตลาด ต่อเนื่อง หลังจากในปีที่ 2556 ที่ผ่านมากระทั่งปัจจุบัน ซีพีเอฟซื้อกิจการไปหลายรายการได้แก่ ลงทุนในซีพี- เมจิ 60% ลงทุนในธุรกิจสุกร RPBI ที่รัสเซีย 69.7% ลงทุนในโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ Tops Foods ที่ทันสมัยในเบลเยี่ยม 80% และล่าสุดลงทุนในธุรกิจสวีเดน BHJ 29%
นอกเหนือจากนี้การเติบโตอย่างมั่นคงของซีพีเอฟยังจะมาจากการบริหารจัดการต้นทุนการเงินด้วย ซึ่งในช่วงต้นปีได้มีการออกหุ้นกู้ไปเป็นมูลค่า 290 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่ถูกลง สามารถช่วยบริษัทประหยัดค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยไปได้เฉลี่ยปีละ 400 ล้านบาทและยังมีแผนออกอย่างต่อเนื่องเพื่อมาชำระดีลที่ครบสัญญา
นายอดิเรกยังมองว่า สำหรับปัญหาการเมืองในประเทศขณะนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจของซีพีเอฟ เนื่องจากเป็นธุรกิจอาหารที่ต้องบริโภค แม้กำลังซื้ออย่างอื่นชะลอตัวลง แต่ด้านอาหารไม่ชะลอลง ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจของไทยนั้น สถานะของไทยมีพื้นฐานที่ดีอยู่ แม้หลายฝ่ายจะคาดการเศรษฐกิจจะเติบโตได้น้อย แต่ปีหน้าเข้าสู่ AEC แล้วซึ่งมีประชากรในภูมิภาคหลายร้อยล้านคนและไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อทางใต้ของจีนได้ด้วย ถ้าการเมืองคลี่คลายลงได้ ประเทศจะสามารถเดินหน้าได้
ข่าวเด่น