ไทยเบฟเวอร์เรจ ออกมาปักธงเปิดเกมรุกธุรกิจนอนแอลกอฮอล์อย่างเต็มสูบ ภายใต้กลยุทธ์การซินเนอร์ยี (Synergy) ธุรกิจใน 3 บริษัทหลัก นั่นคือ บริษัท โออิชิ บริษัท เสริมสุข และบริษัท เอฟแอนด์เอ็น โออิชิเปิดแผนร่วมบุกธุรกิจชาเขียว-อาหารทั้งในประเทศและต่างแดน
หลังจากรวบรวมธุรกิจที่มีศักยภาพทั้งกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเข้ามาอยู่ภายใต้ร่มไม้ชายคาของอาณาจักรธุรกิจ ล่าสุดบริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจ ออกมาปักธงเปิดเกมรุกธุรกิจนอนแอลกอฮอล์อย่างเต็มสูบ ภายใต้กลยุทธ์การซินเนอร์ยี (Synergy) ธุรกิจใน 3 บริษัทหลัก นั่นคือ บริษัท โออิชิ บริษัท เสริมสุข และบริษัท เอฟแอนด์เอ็น
แผนการดึงศักยภาพของแต่ละบริษัทมาทำกิจการตลาดร่วมกันนับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป นอกจากจะมุ่งเน้นการขยายธุรกิจกลุ่มนอนแอลกอฮอล์ในประเทศแล้ว บริษัท ไทยเบฟเวอเรท ยังมีแผนที่จะเปิดเกมบุกตลาดต่างประเทศควบคู่ไปด้วย เพื่อตอกย้ำผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่น หลังจากปีที่ผ่านมาได้ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ไปแล้วรอบหนึ่ง
นายมารุต บูรณะเศรษฐกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจนับจากนี้ บริษัทจะทำการตลาดผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก คือ 1. การผนึกกำลัง หรือ ซินเนอร์ยี ทำธุรกิจเครื่องดื่มกลุ่มนอนแอลกอฮอล์ร่วมกับบริษัท เสริมสุข และบริษัท เอฟแอนด์เอ็น เพื่อดึงศักยภาพของแต่ละเครือข่ายให้เอื้อประโยชน์ต่อกัน ทั้งเรื่องการขยายตลาดในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูลวิจัย และกระบวนการผลิตร่วมกันอย่างเต็มประสิทธิภาพ
2. การเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ โดยเน้นพัฒนาคุณภาพและนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต การตลาด การส่งเสริมการขาย และการจัดจำหน่าย โดยเฉพาะการกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคผ่านเครือข่ายพันธมิตร นอกจากนี้ ยังเน้นการขยายไลน์ธุรกิจทั้งเครื่องดื่มและอาหาร รวมไปถึงการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ เพื่อผลักดันธุรกิจของบริษัทให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และ 3. การเสริมสร้างและพัฒนาทีมงานให้มีประสิทธิภาพ โดยให้ความสำคัญกับทุกหน่วยงาน ซึ่งบริษัทถือว่าพนักงานทุกคนเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินหน้าไปได้อย่างมั่นคงยั่งยืน
สำหรับกลยุทธ์ที่บริษัท โออิชิ จะนำมาบุกตลาดเครื่องดื่มในปีนี้ ยังคงเน้นไปที่การเปิดตัวสินค้ารสชาติใหม่ และการทำกิจกรรมการตลาดเป็นหลัก ด้วยการเตรียมประมาณ 500 ล้านบาท เพื่อใช้ในการทำตลาดปีนี้ ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาที่ใช้ไฟเพียง 250 ล้านบาท เท่านั้น เพื่อผลักดันให้สิ้นปีมีส่วนแบ่งในตลาดชาเขียวพร้อมดื่มไม่ต่ำกว่า 40%
นอกจากจะเปิดเกมรุกตลาดในประเทศแล้ว บริษัท โออิชิ ยังมีแผนที่จะบุกตลาดส่งออกอย่างประเทศพม่า ออสเตรเลีย และยุโรปอีกด้วย และเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ บริษัท โออิชิ ได้เตรียมใช้งบลงทุน 2,000 ล้านบาท ซื้อเครื่องจักรใหม่ ซึ่งในมูลค่าลงทุนดังกล่าว 1,100 ล้านบาท เป็นการขยายไลน์ผลิตชาเขียว ส่วนที่เหลืออีก 600 ล้านบาท เป็นงบลงทุนในกลุ่มธุรกิจอาหาร อีก 200 ล้านบาท เป็นการลงทุนขยายคลังสินค้า และอีก 100 ล้านบาท เป็นการลงทุนในส่วนอื่นๆ
นางเจษฎากร ธราธิป ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมผลการดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มในปีที่ผ่านมา โออิชิ ยังสามารถคงครองความเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของตลาดชาเขียวพร้อมดื่มได้ในทุกช่องทางการจัดจำหน่าย ด้วยการมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 6,232 ล้านบาท และมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ประมาณ 43.5% ในช่วงเดือนธ.ค. 2556 ที่ผ่านมาทิ้งห่างคู่แข่งที่ได้ส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ประมาณ 23.4%
ส่วนของแผนการทำตลาดปีนี้ บริษัท โออิชิ ยังคงเดินหน้าเปิดตัวสินค้าใหม่ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง ภายใต้วิสัยทัศน์ “ผู้นำที่สร้างสรรค์ธุรกิจเครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่นที่ไม่เคยหยุดนิ่งเพื่อสุขภาพที่ดีของคนรุ่นใหม่" เพื่อผลักดันให้สิ้นปี 2557 มีรายได้จากธุรกิจชาเขียวพร้อมดื่มเติบโตไม่ต่ำกว่า 18 %
ด้านแผนการขยายธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ ก็ให้ความสำคัญในการทำตลาดเช่นกัน ด้วยการเปิดตัวร้านอาหารแบรนด์น้องใหม่ ควบคู่ไปกับการขยายสาขาแบรนด์เก่าที่มีอยู่ ประกอบด้วย โออิชิแกรนด์โออิชิบุฟเฟ่ต์ นิกุยะ ชาบูชิโออิชิราเมน คาโซคุเตะ และคาคาชิ ซึ่งในส่วนของปีนี้มีแผนที่จะเพิ่มสาขาใหม่อีกประมาณ 50 สาขา ภายใต้งบลงทุนประมาณ 600 ล้านบาท
นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ช่วงปลายปีที่ผ่านมา บริษัทได้อัดงบการขยายสาขากว่า 50 ล้านบาท เพื่อขยายพื้นที่ให้บริการไปยังหัวเมืองรองอย่างจังหวัดบุรีรัมย์และสุรินทร์ ด้วยการเปิดสาขาของร้านอาหารญี่ปุ่นยอดนิยม ทั้ง “ชาบูชิ และ “โออิชิ ราเมน รวมจำนวน 4 สาขา ส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจอาหาร โออิชิ กรุ๊ป มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 27-30% จากตลาดรวมร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 22,000 ล้านบาท
นอกจากจะรุกตลาดในประเทศแล้ว บริษัท โออิชิ ยังมีแผนที่จะเข้าไปขยายธุรกิจร้านอาหารในตลาดต่างประเทศ ซึ่งประเทศแรกของปีนี้ที่จะเข้าไปทำตลาดคือ พม่า คาดว่าจะเริ่มเข้าไปทำตลาดได้ก่อนไตรมาส 2 ที่จะถึงนี้ ด้วยการเข้าไปเปิดร้านอาหารในเครือจำนวน 2 สาขา ในเมืองย่างกุ้งและมัณฑะเลย์
สำหรับกิจกรรมทางการตลาดปีนี้ จะเน้นการสานต่อแคมเปญ OISHI “FLY ME TO JAPAN” โชค 2 ชั้น...มันส์ถึงญี่ปุ่น! ปี 2 โดยการร่วมมือกับพันธมิตร ครอบคลุมทั้งกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เอไอเอส บัตรเครดิตกสิกรไทย ทรูยู และบัตรเครดิตและเดบิต บีเฟิสต์ ธนาคารกรุงเทพ ร่วมกันทำแคมเปญภายใต้แนวคิดที่ว่า ‘กินได้ลด...โซ้ยได้ลุ้น!’ มอบส่วนลดพิเศษสูงถึง 15% เมื่อใช้บริการผ่านทางร้านอาหารญี่ปุ่นชั้นนำในเครือโออิชิ พ่วงรางวัลพิเศษ! ลุ้นแพ็คเกจท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นแบบอันซีนฟรี 5 เที่ยวบิน จำนวน 50 รางวัล จำนวน 100 ที่นั่ง
หลังจากจบแคมเปญดังกล่าวในวันที่ 30 พ.ย. 2557 นี้ และเดินหน้าขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง บริษัท โออิชิ ได้วางเป้าหมายไว้ว่าสิ้นปีนี้น่าจะมีรายได้จากธุรกิจอาหารไม่ต่ำกว่า 7,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 5,976 ล้านบาท
ด้านนางจิตเกษม หมู่มิ่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานการเงินและการบัญชี บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลประกอบการของโออิชิ กรุ๊ป ประจำปี 2556 มีรายได้จากการขายรวมทั้งสิ้น 12,208 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากปีที่แล้ว โดยมีรายได้จากการขายอาหาร จำนวน 5,976 ล้านบาท หรือคิดเป็น 49% จากรายได้จากการขายรวม และรายได้จากธุรกิจเครื่องดื่มจำนวน 6,232 ล้านบาท หรือคิดเป็น 51% จากรายได้จากการขายรวม ซึ่งการเติบโตของรายได้ส่วนใหญ่มาจากการขยายสาขา รวมทั้งสิ้น 43 สาขา
จากผลการดำเนินงานที่ดีดังกล่าว ส่งผลให้ปี 2556 ที่ผ่านมาบริษัท โออิชิ มีกำไรสุทธิ 456 ล้านบาท แต่เนื่องจากบริษัทได้รับรู้ผลขาดทุนจากการปรับประมาณการเงินชดเชยจากเหตุการณ์มหาอุทกภัย ซึ่งเป็นรายการนอกเหนือจากการดำเนินงานตามปกติเป็นจำนวน 100 ล้านบาท หากไม่รวมรายการดังกล่าว บริษัท โออิชิ จะมีกำไรสุทธิสูงถึง 556 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5% ของรายได้จากการขาย ส่วนเป้าหมายรายได้รวมทั้งธุรกิจเครื่องดื่มและธุรกิจอาหารในปี 2557 นี้ บริษัท โออิชิ คาดการณ์ว่าจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 15,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 2556 ที่ประมาณ 23%
การออกมาลั่นกลองรบของบริษัท โออิชิ ในครั้งนี้ น่าจะส่งผลให้คู่แข่งทั้งในตลาดชาเขียวพร้อมดื่ม และอาหารสั่นคลอนพอพอควร เพราะปัจจุบันทั้งตลาดชาเขียวพร้อดื่มและร้านอาหารญี่ปุ่นนับวันจะมีการแข่งขันทีรุนแรง เห็นได้จากการออกมาทำกิจกรรมทางการตลาดในรูปแบบโปรโมชั่น และจากการที่ประเทศไทยในขณะนี้อยู่ในภาวะค่อนข้างซบเซาทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง น่าจะทำให้การแข่งขันทำโปรโมชั่นมีความรุนแรงมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคยอมที่จะควักเงินออกจากกระเป๋า
ข่าวเด่น