ท่านเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้เปิดเผยในการแถลงข่าวข้อมูลภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/2556 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 ผมขอตัดเอาบางส่วนเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องหนี้ๆ ที่กำลังเป็นประเด็นในเวลานี้มาย่อยในมุมมองของเครดิตบูโรดังนี้
1. ในด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สินของครัวเรือนนั้น ในรายงานระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 ครัวเรือนไทยมีรายได้ 25,403 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 4.6% ขณะที่ครัวเรือนมีรายจ่ายเฉลี่ย 19,259 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 5.2% ทำให้เห็นว่ารายจ่ายวิ่งเร็วกว่ารายได้ จากรายได้ลบรายจ่ายแล้ว ครัวเรือนไทยมีเงินเหลือประมาณ 6,144 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ซึ่งเงินจำนวนนี้ที่คิดเป็นประมาณ 24-25% ของรายได้จะถูกนำไปใช้จ่ายชำระหนี้ หรือถ้าไม่มีหนี้ก็เก็บออมเอาไว้ แต่จากข้อมูลระบุว่าครัวเรือนไทยมีหนี้สินเฉลี่ย 159,492 บาทต่อครัวเรือน หรือเกือบ 160,000 บาทต่อครัวเรือนมีอัตราเพิ่มขึ้น 8.7%
2. ที่สำคัญมากๆ คือการผิดนัดชำระหนี้สินไตรมาส 4/2556 ยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) สินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 26.6% สินเชื่อบุคคลภายใต้กำกับที่มีการกู้เป็นก้อนผ่อนเป็นงวดหรือสินเชื่อบัตรกดเงินสดผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนเพิ่มขึ้นสูง 45.8% มามีตัวเลขหนี้เสียอยู่ที่ 10,920 ล้านบาท ในส่วนของยอดค้างชำระบัตรเครดิตเกิน 3 เดือนขึ้นไปเพิ่มขึ้น 31.3% หมายถึงความเร็วการเป็นหนี้เสียมีความเร็วมากขึ้น ในเชิงตัวเลข หนี้เสียรวมเทียบกับสินเชื่อที่ปล่อยออกไปนั้น ยังถือว่ามีสัดส่วนน้อยในภาพรวมของสินเชื่ออุปโภคบริโภคอยู่ สถาบันการเงินต่างรับมือกันได้ ไม่เหมือนตอนเกิดเหตุการณ์หลังปี 2540 แต่ก็ยังไว้ใจอะไรไม่ได้เพราะการที่หนี้เสียวิ่งเร็วขึ้นนั้น เป็นเครื่องชี้ว่าความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลง ขณะที่พูดก็พูดเถอะว่า แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในปี 2557 ยังลูกผีลูกคน มีความเสี่ยงสูง ยังไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้ การที่จะก่อหนี้ใหม่ต้องพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ การจ้างงาน และค่าจ้างแรงงานว่า ยังมีกำลังส่งกำลังผ่อนหรือไม่ สิ่งเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและอัตราค่าจ้างแรงงานที่จะเป็นอย่างไรในสภาพการตลาดเช่นทุกวันนี้
3. หนี้ของครัวเรือนหากอยู่ในสภาพที่แก้ไขไม่ได้เพราะมีเงินเหลือพอใช้หนี้เพียงประมาณ 2,500 บาทต่อเดือน มีความเสี่ยงอย่างมากที่จะไปใช้วิธีคิดกู้นอกระบบ ดอกเบี้ย 5% - 10% เอามาใช้ก่อนจนลุกลามไปถึงความเครียดสะสม ในที่สุดจะไปลงที่เด็กๆ ในครอบครัว เกิดเป็นประเด็นทางสังคม หรือหากชำระหนี้ไม่ได้จะทำให้ตัดสินใจผิดๆ ไปทำงานที่อาจไม่สุจริต ผิดกฎหมายก็เป็นได้ การลัก วิ่ง ชิง ปล้นจะเกิดมากขึ้นไหม หากเป็นคนทำงานประสิทธิภาพในการทำงานจะลดลง หวาดระแวงว่าเจ้าหนี้จะมาตามในวันเงินเดือนออก
เราๆ ท่านๆ เห็นตัวเลขแล้วนะครับ กับดักหนี้นั้นบางคนติดไปแล้ว บางคนกำลังจะพลาดหลงไป บางคนกำลังคิดจะทำ ได้แต่บอกและภาวนาว่าอย่าเลือกแบบนั้น เดินไปคุยกับเจ้าหนี้ขอขยายระยะเวลาดีกว่าครับ เวลานี้เครดิตบูโรกังวลใจจริงๆ นะครับ
สุรพล โอภาสเสถียร
ผู้จัดการใหญ่
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
ข่าวเด่น