เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เสียงแตกผลประชุมกนง.12 มี.ค.


 

 

 

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย   ในวันที่ 12 มี.ค. 57 นี้  กำลังเป็นที่จับตามองของผู้คนในแวดวงธุรกิจตลาดเงินและตลาดทุน   ซึ่งมีการแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย    ทั้งการคาดการณ์ว่า  กนง.จะคงดอกเบี้ยและบางส่วนคาดว่า  น่าจะปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% 

 

 

 

 

นายเชาว์   เก่งชน    กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด  เชื่อว่า กนง.น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.25%   เนื่องจากปัจจัยบวกและลบมีน้ำหนักใกล้เคียงกัน    ขณะที่อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันกับอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน    ดังนั้น ช่องว่างดำเนินนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจยังมีไม่มากนัก 

ที่สำคัญขณะนี้มีความกังวลเรื่องปัญหาระหว่างยูเครนกับรัสเซียจะส่งผลต่อราคาพลังงานปรับเพิ่มขึ้น กดดันให้อัตราเงินเฟ้อขยับอาจเพิ่มสูงกว่ากรอบ 2.4% กนง.คงรอดูสถานการณ์ก่อนตัดสินใจว่าจะปรับลดดอกเบี้ยหรือไม่

ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25%  ในการประชุมในเดือนมีนาคม และอีกครั้งภายในครึ่งปีแรก โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 1.75% ในปี 2557  เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเงินของภาคเอกชนในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังอ่อนแอ

เนื่องจากความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2556  และต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว  ทำให้ยังไม่น่าจะมีรัฐบาลที่มีอำนาจในการบริหารงานอย่างเต็มที่จนถึงต้นไตรมาสที่ 3 ของปี  ซึ่งส่งผลให้โอกาสที่เศรษฐกิจไทยในปี 2557  จะขยายตัวได้มากกว่าปี 2556  ที่ระดับ 2.9% มีค่อนข้างน้อย  
แม้ว่าการส่งออกจะกลับมาขยายตัวได้ดีราว 5% แต่ปัจจัยสนับสนุนอื่น อันได้แก่ การท่องเที่ยว และอุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มอ่อนแอ 

 

 

สอดคล้องกับ ดร. กำพล อดิเรกสมบัติ    หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU)  คาดว่า  การประชุม  กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% เหลือ2%    เนื่องจากการประชุมรอบที่แล้วไม่ได้ลด   และคาดว่าการลดดอกเบี้ยรอบนี้   เพื่อไม่ให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ในระบบมากไป และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ   

 

       

 

ส่วนนายอมรเทพ  จาวะลา   หัวหน้าศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและตลาดการเงิน สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ที่ยอมรับว่า  มีโอกาสที่จะเห็นกนง.  ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมครั้งนี้    แม้จะไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทันที   แต่เชื่อว่าจะช่วยลดภาระหนี้ในส่วนของภาคครัวเรือนได้

ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยที่เป็นแรงสนับสนุนให้กนง.สามารถปรับลดดอกเบี้ยลงได้ เช่น การชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ เงินไหลออกระยะสั้น สภาพคล่องของธนาคารมีค่อนข้างสูง และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ เพราะไม่มีแรงกดดันจากราคาน้ำมัน

 

 

ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย   ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  กล่าวว่า  การประชุมกนง. เดือนมี.ค.นี้   ไม่ว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25%   หรือมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง   ก็จะไม่ส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากกำลังซื้อของประชาชนในขณะนี้ยังไม่ถดถอยลงมาก แต่หาก กนง. เห็นสัญญาณเชิงลึกจากหน่วยงานต่างๆ ที่อาจนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจ ก็สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ 0.25%  เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ  

ที่่สุดคงต้องติดตามว่า คณะกรรมการกนง.จะให้น้ำหนักกับปัจจัยอะไรเป็นหลักในการพิจารณาทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน


LastUpdate 05/03/2557 12:21:31 โดย : Admin
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 3:48 am