แม้สถานการณ์การจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลจะดูเหมือนมีทางออกมากขึ้น เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. อนุมัติให้รัฐบาลยืมเงินงบกลางวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท มาใช้หนี้ชาวนาได้เป็นการชั่วคราว แม้จะกำหนดเงื่อนไขให้คืนเงินภายในสิ้นเดือนพ.ค. 2557
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า การอนุมัติงบดังกล่าวอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นเงินยืมทดรองราชการ โดยจำนวนเงินที่ยืม 20,000 ล้านบาท ซึ่งจะไม่กระทบต่องบกลางที่เหลืออยู่ 67,000 ล้านบาท เพราะรัฐบาลชี้แจงว่า สามารถขายข้าวได้เดือนละ 8,000 ล้านบาท หากขายได้เป็นเวลา 3 เดือน จะมีมูลค่า 24,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าเงินที่ขออนุมัติไป และจะนำมาจ่ายคืนงบกลางภายในเดือนพ.ค. 255 7 ตามที่ได้ประมาณการว่า รัฐบาลยังคงรักษาการอยู่ จึงไม่ผูกพันรัฐบาลชุดต่อไป และไม่เข้าข่ายเป็นได้เปรียบเสียเปรียบในการหาเสียงเลือกตั้ง
สำหรับการชำระหนี้ให้ชาวนาครั้งนี้ เป็นการชำระให้กับชาวนาที่มีใบประทวนภายในเดือนพ.ย. 2556 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่รัฐบาลจะประกาศยุบสภา ในวันที่ 9 ธันวาคม 2556
ด้านนายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า เงินจากงบกลางที่ จำนวน 20,000 ล้านบาท ที่กกต. อนุมัติให้รัฐบาลรักษาการ น่าจะส่งผ่านไปถึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เพื่อส่งต่อให้เกษตรกรที่ถือใบประทวนในโครงการรับจำนำข้าวได้ในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อตกลงกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกรมบัญชีกลาง ในเรื่องการที่กระทรวงพาณิชย์สัญญาว่าจะนำเงินมาคืนงบกลางภายในเดือนพ.ค. ปี 2557
ส่วนนายยรรยง พวงราช รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า หลังจากที่ กกต.อนุมัติให้รัฐบาลใช้งบกลางมาจ่ายคืนให้แก่ชาวนา คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินถึงมือชาวนาได้ภายในหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินระบายข้าวเฉลี่ยเดือนละ 1 หมื่นล้านบาทแล้ว ก็จะสามารถจ่ายเงินตามลำดับใบประทวนไปจนถึงเดือนธ.ค. นี้
ขณะที่ ธ.ก.ส. ได้เปิดตัวกองทุนช่วยเหลือชาวนาอย่างเป็นทางการ โดยนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 3-4 มีนาคม 2557 มียอดเงินบริจาครวมกว่า 149 ล้านบาท และคาดว่า ภายในวันที่ 10 มีนาคมนี้จะได้รับเงินบริจาคและเงินสมทบประมาณ 1,000 ล้านบาทแรก ธนาคารจะนำไปจ่ายให้กับชาวนา ตามลำดับของใบประทวนที่ขึ้นทะเบียนไว้ทันที โดยทุกขั้นตอนจะเป็นไปอย่างโปร่งใสและชัดเจน
รวมทั้งระหว่างวันที่ 5-22 มีนาคม เป็นต้นไป พนักงาน ธ.ก.ส.ทั่วประเทศจะร่วมกันรณรงค์เชิญชวนและให้ข้อมูลกับประชาชนช่วยกันบริจาคและสมทบเงินเข้ากองทุนฯ อีกด้วยทั้งนี้ เป้าหมายระดมเงินเข้ากองทุนดังกล่าว 20,000 ล้านบาท ซึ่งการบริจาคเงินช่วยเหลือชาวนามี 3 รูปแบบ ได้แก่ กองทุนที่ 1 บริจาคเงินเข้ากองทุนช่วยเหลือชาวนา ,กองทุนที่ 2 สมทบเงินเข้ากองทุนช่วยเหลือชาวนาชนิดคืนต้น ไม่มีผลตอบแทนตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป และกองทุนที่ 3 สมทบเงินเข้ากองทุนช่วยเหลือชาวนาชนิดคืนต้น และมีผลตอบแทนตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป อัตรา 0.63% ต่อปี โดยรับเงินบริจาคและเงินสมทบจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.57
แต่สำหรับชาวนาที่ได้รับความเดือดร้อนจาก ความล่าช้าในการจ่ายเงินของรัฐบาล ก็ยังคงเดินหน้าฟ้องศาลปกครองเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลชดใช้เงิน ซึ่งนายปรเมศว์ อินทรชุมนุม เลขานุการสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ได้นำเอกสารหลักฐาน เป็นตัวแทนชาวนา 22 ราย เข้ายื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด เรียกร้องค่าเสียหายในโครงการจำนำข้าวรวมเป็นจำนวนเงิน 2,738,992.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่1 ในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ หรือ กขช. คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติเป็น ผู้ถูกฟ้องคดีที่2 กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่3 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่4 องค์การคลังสินค้า เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่5 องค์การตลาดเพื่อเกษตรกรเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่6 และ กระทรวงการคลัง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่7 ในข้อหาการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง ผิดสัญญาทางปกครอง ในการจ่ายเงินโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ไม่เป็นไปตามกำหนด ซึ่งเชื่อว่า ศาลปกครองจะเร่งรัดดำเนินการพิจารณาคำฟ้องดังกล่าวอย่างเร่งด่วนเนื่องจากชาวนาได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก
แม้การจ่ายเงินให้ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวจะเริ่มมีทางออก แต่เมื่อเทียบกับวงเงินที่รัฐบาลค้างชำระให้ชาวนา ยังถือว่าตัวเลขดังกล่าวยังห่างไกลจากความเป็นจริง
ข่าวเด่น