กำลังซื้อที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้ซบเซาลง โดยในส่วนของธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อ เริ่มมีการทยอยปรับลดเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อในปีนี้แล้ว ขณะที่ผู้ประกอบการเองก็ชะลอการเปิดตัวโครงการในปีนี้ออกไป หรือเลื่อนออกไปเป็นในช่วงครึ่งปีหลังแทน
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมปรับลดเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อลงมาอยู่ที่ 7-8% จากเป้าหมายเดิมที่คาดสินเชื่อจะเติบโต 9-11% เนื่องจากสถานการณ์การเมืองยังมีความไม่แน่นอน และยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ทำให้ไม่เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายส่งผลให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นและชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
นอกจากนี้ มองว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ปีนี้จะชะลอตัว เพราะผู้ประกอบการชะลอการเปิดโครงการใหม่ รวมถึงธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังในการปล่อยกู้มากขึ้น ขณะที่การปล่อยสินเชื่อในช่วง 2 เดือนแรกของปี ยอดการปล่อยสินเชื่อบ้านของธนาคารหดตัว 12.5% อยู่ที่ 4,200 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกับปีก่อนอยู่ที่ 4,800 ล้านบาท ขณะที่แนวโน้มสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารอาจปรับขึ้นบ้าง คาดทั้งปีไม่เกิน 2.2% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.02%
ด้าน นายชาติชาย พยุหนาวีชัย รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย คาดการณ์ว่า สินเชื่อบ้านทั้งระบบปีนี้อยู่ที่ 2.7 ล้านล้านบาท เพิ่มจาก 2.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิ 2 แสนล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่ประมาณ 5.6 แสนล้านบาท ขณะที่ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อบ้านโต 8% โดยเชื่อว่าในเดือนสุดท้ายทุกๆ สิ้นไตรมาสจะมีลูกค้าเร่งโอนที่อยู่อาศัยมากขึ้น โดยเดือน มี.ค.นี้ คาดว่าจะมียอดสินเชื่อเพิ่มขึ้น 5 พันล้านบาท
ขณะที่บริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ ยอมรับว่า ปีนี้บริษัทต้องชะลอแผนการเปิดโครงการใหม่ออกไป จากเดิมที่คาดว่าจะเปิดตัว 12 โครงการ เหลือ เพียง 6-7 โครงการ และจะเน้นคอนโดมิเนียมที่มีราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาทมากขึ้น พร้อมกับรักษากำไรขั้นต้นให้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ประมาณ 16% ส่วนโครงการในต่างจังหวัดบริษัท ฯ ก็จะชะลอเปิดโครงการใหม่ เพราะไม่ชำนาญในพื้นที่และมีการแข่งขันค่อนข้างสูง
ส่วน นายธีรธัชช สิงห์ณรงค์ธร ผู้บริหาร บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ก็ระบุว่า ปีนี้ บริษัทฯ จะชะลอการเปิดโครงการใหม่ในช่วงต้นปีนี้ เนื่องจากไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมือง ที่ทำให้ผู้ซื้อระดับกลางและบน ชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยออกไป ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯ จึงปรับแผนควบคุมต้นทุนเพื่อรักษามาร์จิ้น เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดในปัจจุบัน
และข้อมูลดังกล่าวยังสอดคล้องกับการรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุว่า ภาวะอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ความต้องการซื้อและยอดการผลิตที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและอาคารชุดต่างปรับตัวลง โดยที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ลดลงเหลือเพียง 3,474 ยูนิต เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือขยายตัว ติดลบ 39.4% เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ และความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้ผู้บริโภคชะลอซื้อที่อยู่อาศัย
ข่าวเด่น