เป็นประจำทุกปีเมื่อถึงวัน “วันนักข่าว” 5 มีนาคม ทางสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้จัดงานดินเนอร์ทอล์กขึ้นเพื่อพบปะสังสรรค์นักข่าวและผู้สนับสนุนกิจกรรม ในปี 2557 นี้หลายคนไม่พลาดเพื่อไปร่วมงานพบปะเพื่อนฝูงในแวดวงสื่อสารมวลชนและเพื่อฟังสาระดีๆภายในงาน ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องกมลทิพย์บอลรูมชั้น 2 โรงแรมสุโกศล
ในงานมีพิธีมอบรางวัลอิศราอนันตกุลประเภทภาพข่าวและข่าวยอดเยี่ยมและรางวัลข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประจำปี 2556 พร้อมกันนี้ นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวฯยังได้เปิด“โครงการ 60 ปีสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย”ด้วยเช่นกัน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อผลักดันการใช้เสรีภาพของการเป็นสื่อสารมวลชนอย่างมีจิตสำนึกรับผิดชอบ พร้อมจัดงาน 60 ปีสมาคมฯเพื่อระดมทุนใช้ในกิจกรรมหลายอย่าง ได้แก่ การก่อสร้างอาคารหลังใหม่ของสมาคมฯ การตั้งกองทุนพัฒนาศักยภาพนักข่าวอย่างจริงจังและอย่างเป็นรูปธรรม กองทุนสวัสดิการนักข่าว กองทุนด้านสิทธิเสรีภาพสื่อและกองทุนด้านจริยธรรมสื่อ โดยตั้งเป้าจะดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้ภายใน 2 ปี (2557-2558)
ขณะเดียวกันสาระดีๆในงานปีนี้ที่ผู้เข้าร่วมงานสนใจติดตามกันได้แก่ การอภิปรายพิเศษ“วาระประเทศไทย ล้างคอรัปชั่น ปฏิรูปประเทศไทย” โดยกูรูอาวุโส 3 ท่าน ได้แก่ นายสมพล เกียรติไพบูลย์รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)และนพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดำเนินรายการโดยดร.วิทย์ สิทธิเวคินที่ได้พยายามเสนอทางออกสำหรับประเทศไทยให้หลุดพ้นกับดักของปัญหาทุจริจคอร์รัปชั่นที่ดูเหมือนเกิดขึ้นไปทุกหย่อมหญ้าในปัจจุบัน
การที่ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของไทยยังเกิดขึ้นทั่วไปโดยผู้กระทำผิดยังลอยนวล อยู่เย้ยกฎหมายโดยไม่ได้ถูกลงโทษมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน ซึ่งนายสมเกียรติชี้ว่า สาเหตุมาจากการที่ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง อีกทั้งยังเป็นผลจากการที่คนไทยมีทัศนคติค่านิยมที่ผิด ๆ นิยม ยกย่องคนรวย ชอบมีอำนาจ บูชาเงิน โดยไม่ได้สนใจที่มาของเงิน จึงทำให้กลไกภาครัฐกฎหมาย บิดเบี้ยว การรณรงค์มากมายของหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ องค์กรอิสระ มหาวิทยาลัย จึงไม่สามารถต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นได้
จากเหตุดังกล่าวส่งผลมาถึงข้อต่อมา คือ ทำให้มีผู้กระทำผิดมากมาย จนเจ้าที่หน่วยงานที่รับผิดชอบทำงานกันไม่ทัน ซึ่ง นายวิชาป.ป.ช.ยืนยันถึงข้อนี้ได้ดี และกล่าวว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นในปัจจุบันไม่ใช่แค่การได้เงินแต่เป็นการแสวงหาอำนาจ และยังเกิดขึ้นมากมายเต็มไปหมดทั้งในองค์กรต่าง ๆในระบบราชการ หน่วยงานเอกชนและหน่วยงานที่ดูแลระดับนโยบาย
ขณะเดียวกันปัญหายังเกิดจากการมีระบบอุปถัมภ์ ทำให้ข้าราชการไปรับใช้นักการเมือง ละเมิดอำนาจหน้าที่ กระบวนการอุปถัมภ์ค้ำชูกันนี้นำไปสู่วงจรอุบาทว์ที่ทำให้แก้ยาก
ด้านนพ.เฉลิมชัยอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒชี้ว่าสิ่งสำคัญอีกอย่างมาจากสังคมไทยขาดการอบรม ปลูกฝังจิตสำนึกในทางที่ถูกที่ควรอย่างเพียงพอจากครอบครัว โรงเรียน มหาวิทยาลัยและการได้รับอิทธิพลจากสื่อ ซึ่งสะท้อนได้จากผลการวิจัยของ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)ที่พบว่า มีนักศึกษาทั้งชายและหญิงส่วนใหญ่(84%)เคยลอกการบ้านเพื่อน โดยที่มีเกือบครึ่ง(43%)มองว่า เป็นเรื่องที่ผิดเพียงเล็กน้อย หรือการที่นักศึกษาบอกว่า การไม่คืนเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ไม่ผิด และการที่ข้าราชการและพนักงานบริษัทใช้เวลา ไปทำงานส่วนตัวในที่ทำงาน เป็นต้น
อย่างไรก็ตามหากถามว่า ไทยหมดหวังที่จะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นหรือไม่ ?
คำตอบคือยังไม่หมดหวังเสียทีเดียว ซึ่งเหล่ากูรูชี้แนะว่า ยังพอมีทางออกอยู่บ้าง อย่างน้อยที่สุดเราสามารถนำประเทศที่เขาทำแล้วประสบความสำเร็จมาเป็นแบบอย่างได้
นายสมพลกล่าวว่า การขจัดคอร์รัปชั่นต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ ผู้นำประเทศต้องชัดเจน การมีระบบตรวจสอบที่เข็มแข็งและมีกระบวนการลงโทษอย่างชัดเจนและเข้มแข็งด้วย ซึ่งจากการศึกษาในหลายประเทศพบว่า ทำได้สำเร็จ เช่น จีน ในยุคของจู หรง จี ที่ปราบคอร์รัปชั่นได้อย่างรวดเร็วเพราะผู้นำประเทศมีความชัดเจนที่จะปราบคอร์รัปชั่น ใช้นโยบายประหยัดอย่างเข้มงวดและมีการลงโทษอย่างรวดเร็ว แต่ปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนแปลง ข้าราชการจีนเริ่มบูชาวัตถุและเงิน ไปเที่ยวดูงานต่างประเทศ
สำหรับการจะแก้คอร์รัปชั่นในไทย ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน และเริ่มมีความหวังเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาคประชาชนเริ่มตื่นตัวนอกจากนี้ยังต้องมีภาคสื่อมวลชนช่วยอีกแรงให้ทำหน้าที่เปิดโปง เพื่อเป็นการประนามคนกระทำผิดอย่างชัดเจน ต้องมีการประหยัด ซึ่งหมายถึง การใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันการใช้งบประมาณในนโยบายประชานิยมนำไปสู่การทุจริต และต้องมีการเปิดเผยข้อมูล ต่อสาธารณะ โปร่งใส
ด้านนายวิชากล่าวว่า แม้จะรู้สึกสิ้นหวังกับการกำจัดคอร์รัปชั่นและการทุจริตของไทยซึ่งการทุจริตคอร์รัปชั่นจะอยู่ในวังวนทางการเมือง คนที่เข้าไปเล่นการเมืองมักจะเปลี่ยนไปเหมือนเป็นคนละคน อย่างไรก็ตามมีความเห็นสอดพ้องกับนายสมพลโดยยังมีความหวังอยู่ที่การเมืองภาคพลเมือง (Civil Society) ซึ่งหมายถึง ประชาชนและสื่อมวลชน ที่จะต้องไม่ปล่อยให้นักการเมืองทำหน้าที่ฝ่ายเดียว ต้องช่วยกันตรวจสอบ เปิดโปง ตีแผ่การทุจริตออกมา
โดยเวลานี้กลุ่มคนรุ่นใหม่(Young generation) ในโซเชียลมีเดียมีความสำคัญมาก กลายเป็นกลุ่มคนที่ช่วยเปิดโปงข้อมูล ขณะที่กระบวนการตรวจสอบของไทยมี แต่ยังมีความลึกไม่พอ จึงสนับสนุนให้มีการหาข่าวเชิงสอบสวนเพื่อเปิดโปงโครงการทุจริต ซึ่งสามารถช่วยงานเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่รับผิดชอบได้
พร้อมกันนี้นายวิชา ป.ป.ช.ยังได้เสนอแนะ “Singapore Model” ที่ไทยเราสามารถนำมาใช้เป็นแบบอย่างเพื่อล้างคอร์รัปชั่นได้ แม้จะเป็นเรื่องที่ยากก็ตาม นั่นคือ การมอบอำนาจให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลทุกหน่วยงานของราชการ ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกอย่าง ทั้งเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง การประมูลงาน ซึ่งไทยขณะนี้มีการเขียนในกฎหมายบ้างแล้ว เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบได้
นอกจากนี้เกาหลีใต้ก็ประสบความสำเร็จในการต้านคอร์รัปชั่น เมื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบนักการเมืองได้ โดยมีกฎหมายห้ามนักการเมืองฟ้องร้องประชาชนว่าหมิ่นประมาท ถ้าโดนกล่าวหา
ตัวอย่างความสำเร็จที่กูรูอาวุโสเสนอแนะมาข้างต้นสามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทยเราได้
เพราะแม้จะเป็นเรื่องที่ยากและต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาการทุจริต คอร์รัปชั่น แต่ในขณะที่คอร์รัปชั่นไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว ทุกคน ทุกหน่วยงานคงต้องเริ่มต้นเสียแต่บัดนี้ ก่อนจะสายเกินไป
ข่าวเด่น