คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. ผุดไอเดียกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยสู้วิกฤติการเมืองผ่าน 5 เมกะโปรเจกต์จากฝีมือนักศึกษา เป็นไอเดียด้านสถาปัตยกรรมที่มีส่วนช่วยพัฒนารากฐานอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอาจนำโมเดลผลงานเหล่านี้ไปพัฒนาเป็นสิ่งก่อสร้างขึ้นจริงได้ในอนาคต ซึ่งจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและช่วย แก้ไขปัญหาท่องเที่ยว
รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การท่องเที่ยวในระยะ 10 เดือนแรกของปี 2556 พบว่า การท่องเที่ยวในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นโดยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีจำนวนกว่า 26 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 และสร้างรายได้กว่า 1.15 ล้านล้านบาท แต่หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 – เดือนมกราคม 2557 เป็นต้นมา พบว่า สถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัญหาด้านการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้บรรยากาศการท่องเที่ยวซบเซาลง นอกจากนี้แต่ละประเทศได้มีการประกาศเตือนนักท่องเที่ยวประเทศของตนเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองภายในประเทศไทย จึงกระทบต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวในการเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย รวมทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยด้วย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. ซึ่งมีแนวคิดในการส่งเสริมให้นักศึกษา มีบทบาทในการสร้างสรรค์และพัฒนาผลงาน นวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านสถาปัตยกรรมที่จะช่วยพัฒนาประเทศในด้านต่างๆรวมถึงท่องเที่ยวก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่เราสามารถนำองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมมาช่วยยกระดับการท่องเที่ยวของประเทศไทย
จากเหตุดังกล่าวจึงเกิดเป็นไอเดียจากฝีมือนักศึกษาผ่าน 5 เมกะโปรเจ็กต์ ได้แก่ ได้แก่ Bacl[acler Hub : สัญจรสถานของนักเดินทางอิสระ จุดศูนย์กลางของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการผจญภัย The Hyde Park Rajdamri Residence ต้นแบบคอนโดมิเนียมสุดหรูระดับพรีเมียมใจกลางกรุงเทพมหานครสถานที่พักผ่อนที่มาพร้อมแนวคิดอนุรักษ์ธรรมชาติพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน Savannah Urbana : สวรรค์บ้านนา รีสอร์ทออร์แกนิคที่พร้อมเปิดประสบการณ์การพักผ่อนรูปแบบใหม่ ท่ามกลางกลิ่นอายของธรรมชาติ Krabi Aqurium : พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ จังหวัดกระบี่ แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ดีไซน์ล้ำสมัยเพื่อการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ และ SIAMESE - FRANCO CRISIS 1893 Memorial Park : อนุสรณ์สถานวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ศูนย์ต้อนรับนักท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ซึ่งทางคณะฯ มุ่งหวังว่าหากทั้ง 5 ผลงานจากนักศึกษาเหล่านี้ ได้มีการนำไปต่อยอดและพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้จริง จะสามารถดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้มากขึ้น และจะช่วยแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ได้ในขณะนี้ ดังเช่นโครงการ Waterstudio ผลงานสถาปัตยกรรมลอยน้ำที่มีการพัฒนาจากโมดลและนำมาสร้างขึ้นจริงที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ จากการออกแบบของภูมิสถาปนิกชาวดัทช์ โคเอน ออล์ทุส (Koen Olthuis) นั่นเอง
นายสิปปกร จริภักดิ์ นักศึกษาสาขาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 5เจ้าของผลงานThe Hyde Park Rajdamri Residence กล่าวว่า ปัจจุบันสถานที่พักของนักท่องเที่ยวในยุคนี้ไม่ได้มีแค่โรงแรม รีสอร์ท หรือเกสท์เฮาส์อีกต่อไป แต่เทรนด์การเช่าคอนโดมิเนียมแทนโรงแรมสำหรับพักอาศัยเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่กำลังเป็นที่นิยม ซึ่งปัจจุบันนี้มีเว็บไซต์ที่เปิดให้บริการสำหรับผู้ที่ต้องการนำห้องว่างของตนเองมาเปิดให้นักท่องเที่ยวเช่าพักได้ เช่น เว็บไซต์ www.airbnb.com เป็นต้น อย่างไรก็ตามปัจจัยในการตัดสินใจเลือกที่พักอาศัยของนักท่องเที่ยวมีมากมาย เช่น พิจารณาจากแหล่งที่ตั้งของโครงการ การเดินทางที่สะดวกสบาย การออกแบบที่สวยงามและหรูหรามีระดับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆรอบอาคารที่อยู่อาศัยที่ครบครันซึ่งผลงาน The Hyde Park Rajdamri Residence เป็นต้นแบบคอนโดมิเนียมสุดหรูระดับพรีเมียมของนักท่องเที่ยวที่ต้องการความมีระดับในการพักอาศัยตั้งอยู่บนใจกลางพื้นที่ย่านราชดำริ ทำเลอันเปรียบเสมือนเพชรน้ำงามของกรุงเทพมหานคร และเป็นแหล่งรวมสถานที่ท่องเที่ยวและย่านเศรษฐกิจที่สำคัญซึ่งออกแบบภายใต้แนวคิดในการอนุรักษ์ธรรมชาติที่มาพร้อมกับความหรูหราและความสะดวกสบายในการอยู่อาศัย เหมาะแก่การพักผ่อน และมีความแตกต่างจากคอนโดมิเนียมอื่นๆ ด้วยการใช้แผงอะคริลิคติดฟิล์มกรองแสงเพื่อช่วยลดทอนแสงแดดและความร้อนให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในเวลากลางวัน โครงการThe Hyde Park Rajdamri Residenceมีจำนวน 188ยูนิต สูง 35 ชั้น โดยห้องดูเพล็กซ์ (Duplex)มีขนาดตั้งแต่ 81 – 270 ตร.ม. และห้องเพนท์เฮาส์ (Penthouse) มีขนาด 1,050 ตร.ม.ชั้นบนสุดของโครงการเป็น สกาย บาร์ (Sky Bar) ร้านอาหารสุดหรูที่จะให้คุณดื่มด่ำบรรยากาศเมืองกรุงในยามค่ำคืนได้ครบมุมมอง 360 องศา พร้อมพื้นที่ส่วนกลางและสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน อาทิ สวนลอยฟ้าสปา สระว่ายน้ำสนามสควอช ห้องโยคะ ห้องออกกำลังกายและห้องซาวน่า
นายเรโช ตระกูลสัจจาวัตร นักศึกษาสาขาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 5 เจ้าของผลงาน Backpacker Hub หรือ สัญจรสถานของนักเดินทางอิสระ กล่าวว่า การท่องเที่ยวแบบแบ็คแพ็ค (Bagpack) เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สังเกตได้จากรูปแบบและพฤติกรรมการท่องเที่ยวด้วยตนเองแทนการใช้บริการของบริษัททัวร์ เนื่องจากปัจจัยด้านงบประมาณ และความต้องการอิสระในการท่องเที่ยว แต่จากการสังเกตพบว่า สถานที่พักอาศัยของนักท่องเที่ยวแบบแบ็คแพ็คเกอร์มีค่อนข้างน้อย หรือราคาสูงเกินความจำเป็น ผลงาน Backpacker Hub หรือ สัญจรสถานของนักเดินทางอิสระจึงถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากแรงบันดาลใจที่จะทำให้สถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์กลางในการอำนวยความสะดวกของนักท่องเที่ยวในทุกระดับซึ่งตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพงโดยภายในตัวอาคารจะประกอบด้วยห้องพักและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ศูนย์บริการข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจ ร้านค้าจัดจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับการเดินทาง ห้องสมุดที่เป็นแหล่งรวบรวมความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ลานกิจกรรมอเนกประสงค์ และห้องจัดแสดงนิทรรศการที่แสดงผลงานภาพถ่ายประสบการณ์ประทับใจของนักท่องเที่ยวรวมถึงบริเวณใกล้เคียงรายล้อมด้วยร้านอาหาร และร้านขายของที่ระลึก
นายชยภัทร ใจกลางบูรณะ นักศึกษาสาขาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 5 เจ้าของผลงาน กระบี่อะควอเรี่ยม (Krabi Aquarium) : พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ จังหวัดกระบี่ ได้กล่าวถึงแนวคิดของโครงการว่า จังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ นิยมเดินทางมาชมภูมิทัศน์และแหล่งท่องเที่ยวอันสวยงามกันเป็นจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันการที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่มีการเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็วก็ส่งผลให้ทรัพยากรทางธรรมชาติของจังหวัดกระบี่ค่อย ๆ เสื่อมโทรมลงในทางอ้อมอันเนื่องมาจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งในเรื่องมลพิษทางอากาศ ฝุ่นละออง หรือขยะมูลฝอยจึงเป็นที่มาของแนวคิดในการสร้างกระบี่อะควอเรียมขึ้น โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดจากการพัฒนาพื้นที่ป่าชายเลนที่เสื่อมโทรมและไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้แล้วมาเปลี่ยนแปลงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เพื่อช่วยทดแทนทรัพยากรที่สูญเสียไปโดยการนำความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบซึ่งแบ่งพิพิธภัณฑ์เป็น 3 ส่วนใหญ่ คือส่วนจัดการแสดงนิทรรศการ เป็นบ่อของสัตว์น้ำมีรูปร่างคล้ายเลข 8 หรือสัญลักษณ์ Infinity อันเป็นสัญลักษณ์ของวงจรชีวิตของสัตว์น้ำ ที่พร้อมจะออกสู่มหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ส่วนที่สองคือ ส่วนสัมมนาเป็นพื้นที่ยกตัวลอยจากพื้น มีเสาค้ำจุนรูปร่างคล้ายรากของต้นโกงกางที่สื่อให้เห็นว่า ธรรมชาติคอยดูแลปกป้องระบบนิเวศอยู่ตลอดเวลา และส่วนสุดท้าย คือส่วนดำเนินงานวิจัยที่ประกอบไปด้วยบ่อสำหรับการทำงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อการดูแลและการพัฒนาระบบนิเวศของพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งเปิดให้นักท่องเที่ยว นักเรียนและผู้ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดได้เข้าชม และใช้เป็นแหล่งการเรียนรู้ทางธรรมชาติเชิงศิลป์พร้อมชูจุดขายในการเป็นศูนย์อนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำหายากที่น่าสนใจไม่แพ้อะควอเรียมอื่นๆ ทั้งนี้ ตนคาดว่า สถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้จะสามารถช่วยยกระดับจังหวัดกระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่คงความสวยงามทางธรรมชาติและได้ความนิยมที่สุดของภาคใต้ในปี 2558
ด้านนายณปรัชญ์ รัตนนิตย์ นักศึกษาสาขาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 5 เจ้าของผลงาน Savannah Urbana: สวรรค์บ้านนา กล่าวว่า การท่องเที่ยวเชิงเกษตรเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมและเหมาะกับสภาวะของโลกปัจจุบันที่ต้องร่วมมือกันประหยัดพลังงานและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โครงการต้นแบบSavannah Urbanaหรือ สวรรค์บ้านนารีสอร์ทออร์แกนิคเพื่อการท่องเที่ยวเชิงเกษตร สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อมอบประสบการณ์การพักผ่อนรูปแบบใหม่ที่ทำให้ได้พักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจ รวมไปถึงการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้แบบใหม่ที่ยากจะพบเจอในสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆส่วนในด้านการออกแบบ ตนเลือกใช้ เส้นตรง เส้นโค้ง และเส้นอิสระ เป็นสัญลักษณ์แทนการ เชื่อมโยงระหว่างความเป็นอิสระของการใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติกับกฎระเบียบแบบแผนของการใช้ชีวิตในสังคมเมืองนอกจากนี้รีสอร์ทออร์แกนิคยังเน้นกิจกรรมเชิงเกษตร อาทิ การเลี้ยงสัตว์ การปลูกผักปลอดสารพิษ ซึ่งนอกจากจะให้ความเพลิดเพลินและรู้สึกผ่อนคลายแล้วยังให้ความรู้ในเวลาเดียวกันอีกด้วยส่วนสาเหตุที่เลือกพื้นที่ตั้งโครงการในจังหวัดนครสวรรค์ เนื่องจากที่นี่มีสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศเหมาะสมกับการพักผ่อน อีกทั้งเป็นแหล่งเกษตรกรรมและประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของภาคกลางตอนบนผสานกับวัฒนธรรมและประเพณีไทย – จีนอันเก่าแก่ และยังเป็นเส้นทางคมนาคมการขนส่งที่สำคัญจากตะวันออก – ตะวันตก (East West Corridor) ที่จะทำให้จังหวัดนครสวรรค์เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในอนาคตอันใกล้
นายบุญญกานต์ เรืองวงศ์ นักศึกษาสาขาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 5 เจ้าของผลงาน SIAMESE - FRANCO CRISIS 1893 Memorial Park: อนุสรณ์สถานวิฤตการณ์ ร.ศ.112 กล่าวว่า ประเทศไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์จำนวนมาก ซึ่งสถานที่แต่ละแห่งล้วนแต่มีความน่าสนใจ แต่สาเหตุที่ตนเลือกออกแบบโครงการอนุสรณ์สถานวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า และพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการเนื่องจาก ทำเลที่ตั้งของที่นี่อยู่ไม่ไกลจากสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิมากนัก จึงเหมาะกับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ พร้อมกับการสร้างจุดเด่นในการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งแรกที่ใกล้สนามบิน คล้ายคลึงกับที่ประเทศอื่นๆมี เช่น พิพิธภัณฑ์ชางกี ตั้งอยู่ใกล้สนามบินสิงคโปร์ชางกี ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งตนตั้งใจให้สถานที่แห่งนี้เป็นจุดต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ หรือ welcome spot ของเมืองไทย ซึ่งพร้อมให้บริการและแนะนำข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวที่สนใจอยากเรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของไทย นอกจากนี้ ที่นี่ยังมีจุดเด่นที่ เน้นการบอกเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ช่วงวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 เพื่อให้คนไทยได้ระลึกถึงเหตุการณ์ และกระตุ้นจิตสำนึกในความรักชาติ ส่วนในมุมมองด้านสถาปัตยกรรมได้มีการออกแบบอาคารเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ห้องแสดงนิทรรศการ เพื่อให้นักท่องเที่ยวร่วมย้อนรำลึกถึงวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ห้องประชุมและสัมมนา ซึ่งสามารถรองรับผู้เข้าร่วมได้กว่า 200 ที่นั่ง จุดชมทิวทัศน์ ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถชมความงดงามของแม่น้ำเจ้าพระยาและผืนป่าชายเลน และส่วนบริการร้านอาหาร เครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายของที่ระลึกจากผลิตภัณฑ์ในชุมชน เพื่อส่งเสริมการสร้างรายได้ของคนในพื้นที่
ทั้งนี้ประชาชนทั่วไปและนักเรียนนักศึกษาที่สนใจ 5 เมกะโปรเจกต์ผลงานของนักศึกษาสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.pr.kmitl.ac.th
ข่าวเด่น