เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
บทวิจัยเศรษฐกิจตอนที่ 9/2557: บทบาทสำคัญของเครดิตบูโรที่นอกเหนือจาก "ถังข้อมูลเครดิต" คือเป็น "สัญญาณเตือนภัย" และ "โครงสร้างพื้นฐาน"



 

ใครที่เป็นหนี้จะต้องรู้จักบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือ “เครดิตบูโร” ที่ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2548 ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 ทำหน้าที่ในการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลเครดิตของลูกหนี้สินเชื่อทั้งหมดหรือที่เรียกว่าข้อมูลเครดิตบูโร และเปิดใจเผยข้อมูลเครดิตบูโรให้กับสถาบันการเงินภายใต้การยินยอมของผู้เป็นเจ้าของข้อมูลที่ไปขอสินเชื่อ

โดยสมาชิกของเครดิตบูโรครอบคลุมสถาบันการเงินทั้งที่เป็นธนาคารพาณิชย์และไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ เช่น บริษัทบัตรเครดิต บริษัทเช่าซื้อ/ลีสซิ่ง เป็นต้น รวมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นธนาคารเฉพาะกิจรายสุดท้ายที่กำลังเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในปี 2557 นี้ โดยบัญชีมากถึง 15 ล้านบัญชี

ทั้งนี้ ฐานข้อมูลเครดิตที่มีการจัดเก็บไว้ที่เครดิตบูโร ณ ธันวาคม 2556 แบ่งเป็นฐานข้อมูลระดับบุคคลธรรมดามี 25.10 ล้านลูกหนี้ หรือ 70.73 ล้านบัญชี และฐานข้อมูลระบบเชิงพาณิชย์มี 260,000 ลูกหนี้นิติบุคคล หรือ 4.47 ล้านบัญชี

เครดิตบูโรจึงเปรียบเสมือนเป็น “ถังข้อมูลที่บ่งบอกพฤติกรรมในเรื่องหนี้” ที่ใหญ่ที่สุดของระบบการเงินไทย หากใครก็ตามที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงินในระบบ ไม่ว่าจะเป็นในฐานะผู้กู้หรือผู้ให้กู้ หากต้องการตรวจเช็คข้อมูลเครดิต หรือตรวจเช็คสุขภาพทางการเงินของตัวเอง รวมถึงสถาบันการเงินในฐานะผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้ หากต้องการตรวจเช็คอาการของลูกหนี้ เพื่อวิเคราะห์หรือทบทวนสินเชื่อ ก็สามารถขอตรวจสอบข้อมูลเครดิตเหล่านี้ได้จากเครดิตบูโร


นั่นคือบทบาทของเครดิตบูโรที่คุ้นเคยกันมากว่า 10 ปี แต่ความจริงบทบาทของเครดิตบูโรเป็นมากกว่าถังข้อมูลเครดิต แต่ยังมีหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือเป็น “สัญญาณเตือนภัย” และ “โครงสร้างพื้นฐาน”


1. สัญญาณเตือนภัย หรือ “early warning for debt tsunami” ของระบบการเงิน คือ สามารถใช้ข้อมูลวิเคราะห์ระบบการเงิน โดยเฉพาะด้านเครดิตหรือสินเชื่อให้สามารถเห็นทิศทางและอาการของสินเชื่อ รวมทั้งใช้เป็นเครื่องมือในการอ่านสัญญาณเศรษฐกิจของสถาบันต่างๆ เพื่อไปคิดต่อว่าควรต้องออกมาตรการหรือต้องไปทำอะไรในเชิงการบริหารความเสี่ยง


2. เป็น “โครงสร้างพื้นฐาน” ของระบบการเงิน หรือ “financial infrastructure” คือ มีระบบข้อมูลทางการเงินที่ดี (financial system) และ ไปเสริมสร้างโครงข่ายความปลอดภัย (financial safety net) ให้เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ ป้องกันการเกิดความล่มสลายอย่างที่เกิดมาในอดีต หากระบบทุกส่วนตรงนี้ดีมีประสิทธิภาพ เชื่อว่าระบบการเงินจะไม่มีปัญหารุนแรงถึงขั้นต้องไปยุ่งกับการค้ำประกันเงินฝาก เพราะปัญหาจะถูกจัดการตั้งแต่ต้นมือ อีกทั้งก่อนที่เหตุการณ์ต่างๆ จะไปถึงจุดนั้น ต้องผ่านทีละจุดของเครดิตบูโรและระบบการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินที่เข้มงวดเป็นอย่างมาก

“ถ้าคุณจะปกป้องเงินฝาก คุณต้องไปปกป้องฝั่งสินเชื่อ โดยต้องให้ข้อมูลสมบูรณ์ ให้เขาคือสถาบันการเงินวิเคราะห์ได้ ให้เขามีโครงสร้างพื้นฐานในทุกด้านที่มีอยู่ เช่น การกำกับดูแล การมีธรรมาภิบาลของผู้บริหาร ฝั่งคนมาขอกู้ก็ให้ความรู้เรื่องทางการเงิน (financial literacy) ให้เขาให้มากพอ รวมไปถึงจะมี financial safety net ที่สมบูรณ์เป็นวงจรซึ่งเครดิตบูโรเป็นหนึ่งในกลไกนั้น”


LastUpdate 10/03/2557 12:11:48 โดย : Admin
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 3:26 am