ก.ล.ต. ลงนามความร่วมมือกับ FSA ญี่ปุ่นเพื่อขยายโอกาสธุรกิจในตลาดทุน และนำภาคเอกชนไทยร่วมหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับภาครัฐและเอกชน พร้อมศึกษาดูงานการเสนอขายหน่วยลงทุนของไปรษณีย์ญี่ปุ่น
ก.ล.ต. ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (Letters for Cooperation) กับหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินและตลาดทุนของประเทศญี่ปุ่น (Financial Services Agency: FSA) ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในระหว่างการเดินทางไปหารือกับผู้บริหารภาครัฐและเอกชนของญี่ปุ่น โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อยกระดับความร่วมมือด้านมาตรฐานการกำกับดูแลตลาดทุน และแสวงหาโอกาสเพื่อส่งเสริมการทำธุรกรรมแบบข้ามพรมแดนระหว่างตลาดทุนไทยและญี่ปุ่น
การเดินทางครั้งนี้ ก.ล.ต. ได้เชิญผู้บริหารของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย และสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านตลาดทุนไทย และพบปะกับสถาบันการเงินของญี่ปุ่นเพื่อสร้างพันธมิตรทางธุรกิจอีกด้วย และได้นำผู้บริหารจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด นำโดยนางสาวอนุสรา จิตต์มิตรภาพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เข้าพบผู้บริหารของบริษัทไปรษณีย์ญี่ปุ่น เพื่อศึกษาถึงแนวทางและระบบงานในการเสนอขายหน่วยลงทุนผ่านเครือข่ายไปรษณีย์ในประเทศญี่ปุ่น
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า การบรรลุข้อตกลงในครั้งนี้เกิดจากการประสานความร่วมมือระหว่างกันอย่างต่อเนื่องร่วม 2 ปี ซึ่งถือเป็นโอกาสในการเชื่อมโยงตลาดทุนไทยกับตลาดทุนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดทุนที่ได้รับการยอมรับระดับโลก โดยเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ลงทุนของทั้งสองประเทศ และเป็นช่องทางให้นักลงทุนญี่ปุ่นใช้ตลาดทุนไทยเพื่อเชื่อมการลงทุนไปยังภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอีกด้วย
นายริวทาโร่ ฮาทานากะ FSA Commissioner กล่าวว่า การบรรลุข้อตกลงความร่วมมือจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านตลาดทุนระหว่างไทยและญี่ปุ่นในระยะยาว รวมทั้งพัฒนาระดับความร่วมมือให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
นายสมจินต์ ศรไพศาล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า สมาคมฯ รู้สึกชื่นชมในแนวคิดเชิงรุกของ ก.ล.ต. และ FSA ที่จัดให้ภาคเอกชนทั้งสองประเทศได้มีโอกาสพบกัน จึงทำให้ทราบว่ามีความเป็นไปได้ทางธุรกิจในหลายด้าน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดโอกาสการพัฒนาความสัมพันธ์ และประสานประโยชน์ทางธุรกิจของสมาชิกให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันนักลงทุนไทยและญี่ปุ่นมีความสนใจในการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับบริษัทหลักทรัพย์ไทยและบริษัทหลักทรัพย์ญี่ปุ่นจะแสวงหาพันธมิตรระหว่างกัน เพื่อเป็นการส่งเสริมการให้บริการแก่นักลงทุนของแต่ละประเทศและเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจ โดยความร่วมมือที่จะทำได้นั้นค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่การให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ การจัดทำบทวิเคราะห์หลักทรัพย์ การตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในการลงทุน เป็นต้น
ข่าวเด่น