เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กสิกรไทยมองแนวโน้มไทยเที่ยวไทยปี 57 ชะลอตัว


 

 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ตลาดไทยเที่ยวไทยปี 57 มีแนวโน้มเติบโตลดลง ชี้การเมืองยืดเยื้อถึง Q2 ท่องเที่ยวไทยโตหดตัวเหลือเพียง 7.9% รายได้ท่องเที่ยวประมาณ 7.25 แสนล้านบาท  

 

 

 

ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาตินอกจากมีความสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ตลาดนักท่องเที่ยวที่เป็นคนไทยเองก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างเม็ดเงินสะพัดไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่การท่องเที่ยวไทยประสบภาวะวิกฤต ส่งผลกระทบทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยถดถอยลง การกระตุ้นการขยายตัวของตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยจึงสามารถช่วยชดเชยตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หดหายไปได้บางส่วนและยังช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจด้านการท่องเที่ยวไทยให้สามารถประคองกิจการให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตมาได้หลายครั้งหลายครา 

 
ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ตลาดไทยเที่ยวไทยเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาจากการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยที่เพิ่มขึ้นจากจำนวน 98.00 ล้านคน (มีการนับซ้ำ เนื่องจากนักท่องเที่ยวคนไทยแวะเที่ยวมากกว่า 1 จังหวัดในการเดินทางท่องเที่ยวแต่ละครั้ง)ในปี 2552 มาเป็น 150.51 ล้านคนในปี 2555 และสร้างรายได้ท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากมูลค่า 2.65 แสนล้านบาทในปี 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 5.89 แสนล้านบาทในปี 2555 แม้ว่า ในบางช่วงจะเกิดสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง และอุทกภัยครั้งร้ายแรงในช่วงปลายปี 2554  ก็ตาม
 
 
 

 

สำหรับในปี 2556 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศอาจขยายตัวประมาณร้อยละ 9.6 หรือมีจำนวน 165.0 ล้านคนซึ่งสามารถสร้างรายได้ท่องเที่ยวคิดเป็นมูลค่า ประมาณ 6.70 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 เมื่อเทียบกับปี 2555

 

 

 
ด้านจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับหนึ่งของคนไทย (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) คือ นครราชสีมา (อำเภอเมืองและปากช่อง) ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ที่มีความโดดเด่น ประกอบกับเป็นจังหวัดที่เปรียบเสมือนประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางไปยังนครราชสีมาเป็นจำนวนมากในแต่ละปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา มีการเติบโตอย่างรวดเร็วของการท่องเที่ยวปากช่อง ด้วยแรงหนุนจากตลาดนักท่องเที่ยวคนไทย ทำให้นครราชสีมาสามารถแซงกาญจนบุรีขึ้นมาครองอันดับหนึ่งของตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยได้ในปี 2555 ส่วนปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมรองลงมาจากกาญจนบุรี ได้แก่ ระยอง เพชรบุรี (ชะอำ) พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี (พัทยาและบางแสน) เชียงใหม่ สระบุรี สงขลา และประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) ตามลำดับ 
 
 
แนวโน้มไทยเที่ยวไทยปี’57: คาดสร้างรายได้สะพัด 7.25 แสนล้านบาท
 
 
ในปี 2557 การท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มต้องเผชิญความท้าทายหลายประการ ที่ส่งผลบั่นทอนการเติบโตของตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศ โดยเฉพาะการชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และการขาดเสถียรภาพด้านการเมือง ซึ่งนำไปสู่สถานการณ์ความไม่สงบสุขภายในประเทศ เหล่านี้ล้วนไม่เอื้อต่อบรรยากาศที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย 
 
อย่างไรก็ดี ในปี 2557 ยังมีปัจจัยสำคัญ ๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยแม้ในอัตราที่ช้าลง ได้แก่ 
 
1.การเติบโตของธุรกิจสายการบิน โดยเฉพาะธุรกิจการบินต้นทุนต่ำ ที่หันมาขยายเส้นทางบินภายในประเทศจากเมืองเศรษฐกิจหลักในส่วนภูมิภาคไปยังเมืองท่องเที่ยวอื่น เช่น เชียงใหม่-กระบี่ เชียงใหม่-ตาก(แม่สอด) เป็นต้น 
 
2.กิจกรรมกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ โดยแต่ละจังหวัดต่างหันมาพัฒนาและประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นในพื้นที่ ซึ่งอาจจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ (ภูเขา ทะเล หาดทราย สวนผลไม้ ไร่ผัก ไร่ดอกไม้) แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม (งานประเพณีประจำท้องถิ่นต่างๆ) รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (สวนน้ำสวนสนุก สวนสัตว์) 
 
3.กิจกรรมส่งเสริมการตลาดระหว่างธุรกิจบริการด้านท่องเที่ยวร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ อาทิ ธุรกิจโรงแรม/ธุรกิจการบิน/ธุรกิจบริการร้านอาหาร ร่วมกับสถาบันการเงิน นำเสนอโปรโมชั่นการผ่อนชำระแพ็กเกจท่องเที่ยวผ่านบัตรเครดิตโดยไม่คิดดอกเบี้ย (เช่น ผ่อน 0% นาน 6 เดือน เป็นต้น) การใช้คะแนนสะสมแลกซื้อห้องพักหรือตั๋วเครื่องบินได้ในราคาถูกพิเศษ รวมถึงการสะสมไมล์ได้ถึง 2 เท่าหากลูกค้าใช้บัตรเครดิตของสถาบันการเงินที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับธุรกิจสายการบิน 
 
4.คนไทยเริ่มวางแผนเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดากันมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว และหลีกเลี่ยงความแออัดของนักท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว (วันหยุดที่ติดต่อกับวันหยุดสุดสัปดาห์) ที่คนไทยส่วนใหญ่ยังนิยมเดินทางท่องเที่ยวทั้งระยะใกล้และระยะไกล อาทิ วันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ (12-13-14-15 เมษายน 2557) เทศกาลเข้าพรรษา (11-12-13 กรกฎาคม 2557) เป็นต้น 
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภายใต้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่การชุมนุมทางการเมืองส่งสัญญาณยืดเยื้อต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 2 ของปี 2557 ส่งผลให้ตลาดคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมีแนวโน้มชะลอการเติบโตลง โดยคาดว่าจะมีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศจำนวน 178.0 ล้านคน เติบโตร้อยละ 7.9 จากปีก่อนหน้า และสร้างเม็ดเงินรายได้ท่องเที่ยวสะพัดประมาณ 7.25 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในกรณีปกติหากไม่มีปัจจัยกระทบทางการเมือง ตลาดคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ น่าจะมีจำนวนประมาณ 185.0 ล้านคนในปี 2557 เติบโตร้อยละ 12.1 จากปี 2556 และก่อให้เกิดรายได้ท่องเที่ยวมูลค่าประมาณ 7.84 แสนล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 17.0 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
 
 
 
 
 
 
ทั้งนี้จากภาพรวมกล่าวได้ว่า ภาวะที่ชาวไทยต้องมีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองของไทยในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวในบางพื้นที่ (เสี่ยงภัยจากเหตุการณ์รุนแรง) รวมทั้งตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยบางกลุ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 
 
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการธุรกิจบริการด้านท่องเที่ยวต่างเร่งดำเนินมาตรการส่งเสริมการตลาด ควบคู่กับการสนับสนุนของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นบรรยากาศการท่องเที่ยวไทยให้กลับมาคึกคัก สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ
 
ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนในแต่ละจังหวัดของไทย ต่างเร่งปรับกลยุทธ์การให้บริการ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทย โดยเฉพาะตลาดระดับบนที่มีกำลังซื้อ อาทิ (1) กลุ่มเดินทางท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ที่มีการผสมผสานกับกิจกรรมด้านกีฬา (เช่น การรวมกลุ่มนักปั่นจักรยาน/ ขี่บิ๊กไบค์ ไปยังแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ กลุ่มกีฬากอล์ฟ กลุ่มวิ่งเพื่อสุขภาพ กลุ่มล้างพิษตับ กลุ่มนั่งสมาธิ เป็นต้น) และ 
 
(2) การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community-Based Tourism: CBT) ที่เน้นให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตของชุมชนในแต่ละพื้นที่ของไทยเช่น วิถีชาวเลในภาคใต้ วิถีชุมชนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในภาคกลาง ชุมชนชาวไทยภูเขาในภาคเหนือ ชุมชนชาวไทย-มอญในภาคตะวันตก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังรวมถึงกลุ่มที่เดินทางไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมและเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญตามต่างจังหวัดด้วย 
 

 


LastUpdate 11/03/2557 11:36:45 โดย : Admin
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 3:45 am