สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองดอกเบี้ยไม่ใช่ขาลง ยกเว้นเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เชื่อปัญหาการเมืองจบได้ เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้เร็ว มีโอกาสเห็นดอกเบี้ยปรับขึ้นปลายปีนี้
นายอมรเทพ จาวะลา หัวหน้าส่วนวิจัยเศรษฐกิจและตลาดการเงิน สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) (Mr. Amonthep Chawla, Ph.D., Vice President, Economic and Financial Market Research, Research Office, CIMB Thai Bank PCL) เปิดเผยว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% และเมื่อรวมกับการปรับลดดอกเบี้ยช่วงปลายปี 2556 ที่ปรับลดไป 0.25% ถึงตอนนี้ดอกเบี้ยนโยบายลงมาแล้ว 0.50% ซึ่งขณะนี้มีหลายสำนักมองว่า ดอกเบี้ยจะปรับลดลงได้อีกนั้น ทางสำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยมองว่า จะไม่เห็นการปรับลดดอกเบี้ยอีกในปีนี้ เนื่องจากยังไม่ใช่ช่วงดอกเบี้ยขาลง ยกเว้นว่าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น
ซึ่งสำนักวิจัยฯมองว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่วิกฤต การปรับลดดอกเบี้ย 2 ครั้งที่ผ่านมา ต้องการกระตุ้นการใช้จ่าย ลดภาระดอกเบี้ยจากปัญหาหนี้ครัวเรือนเท่านั้น นอกจากนี้ หากปัญหาการเมืองจบ เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว และมีโอกาสได้เห็นดอกเบี้ยปรับขึ้นได้ในช่วงปลายปี
นายอมรเทพ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีความอ่อนแอของอุปสงค์ในประเทศที่ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจในการจับจ่ายซื้อของ ในขณะที่ผู้ลงทุนก็รอความชัดเจนจากแนวโน้มทางการเมือง นอกจากนี้ ภาครัฐบาลเองก็ประสบปัญหาด้านความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุนที่จำเป็นต้องเลื่อนออกไป
การส่งออกก็ไม่สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ด้วยปัญหาโครงสร้างสินค้าส่งออกไทยที่อาศัยเทคโนโลยีต่ำ ขณะที่ตลาดโลกเปลี่ยนไปหาสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูง อีกทั้งการฟื้นตัวของสหรัฐฯ ก็เปลี่ยนจากการเน้นการบริโภคเป็นการลงทุน ซึ่งไทยไม่มีความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกสินค้าทุนมากนัก
ด้วยเหตุนี้ เศรษฐกิจไทยจึงเข้าสู่ภาวะการชะลอตัวที่รุนแรงต่อเนื่องจากปลายปีก่อน ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จึงปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 2.00% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
“หากเทียบการปรับลดดอกเบี้ยในอดีต ทางกนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพียง 0.50% คือช่วงน้ำท่วมปลายปี 2554 ช่วงมีปัญหาการส่งออกตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวปลายปี 2555 และล่าสุดเมื่อเศรษฐกิจไทยชะลอตัวพร้อมมีความเสี่ยงจากการเมืองปลายปี 2556 แต่หากเป็นความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่เกิดจากการชะลอตัวอย่างรุนแรง ทางกนง. จะลดดอกเบี้ยมากกว่านั้นมาก เช่น ช่วงปี 2550 และ 2551 คำถามคือ ความเสี่ยงในการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจีนมีสูง แต่ทางกนง.จะมีกระสุนพอหรือไม่” นายอมรเทพ กล่าว
ด้วยเหตุนี้ ทางสำนักวิจัยจึงคาดว่า ทางกนง. อาจจะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยอีก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศจากปัญหาการชะลอตัวด้วยปัจจัยทางการเมือง แต่จะเก็บมาตรการทางการเงินไว้เพื่อรับมือวิกฤติการเงินจากภาคต่างประเทศ ที่นับว่ามีความเสี่ยงสูงสำหรับเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน หรือวิกฤตตลาดเกิดใหม่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอีกครั้งหลังมีการปรับลดมาตรการ QE ของสหรัฐฯ ที่มากกว่าเดิม
อีกทั้งหากสหรัฐฯ หยุดมาตรการ QE นักลงทุนต่างชาติจะตั้งคำถามว่าทางสหรัฐฯ จะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดเงินไหลออกที่มากขึ้น อันจะกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยได้ และหากเป็นเช่นนั้นทางกนง. อาจต้องกลับมาปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง
ข่าวเด่น