นักเก็งกำไรอ่วม เหตุราคาที่ดินตามแนวรถไฟความเร็วสูง ส่อลดฮวบ 50% หลังจากหลังศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ขัดต่อกฎหมาย ขณะที่นักเก็งกำไรคอนโดฯเดี้ยง ขายต่อใบจองไม่ได้ แห่ทิ้งดาวน์เพียบ
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้นักเก็งกำไรในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งในส่วนของคอนโดมิเนียม และที่ดินต่างได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักเก็งกำไรในที่ดินตามแนวรถไฟความเร็วสูง (ไฮด์สปีด เทรน) ที่คาดว่าราคาที่ดินจะตกลงอย่างมาก หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ราคาที่ดินถูกปั่นให้สูงขึ้นจากราคาปกติ 2-3 เท่า จากนโยบายการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งล่าสุด เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ขัดต่อกฎหมาย จะส่งผลกระทบให้ราคาที่ดินตามจังหวัดต่าง ๆ ที่เป็นสถานีตามแนวโครงการรถไฟความเร็วสูงลดลงตามไปด้วย แต่ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะลดลงมากแค่ไหน
ขณะที่นักเก็งกำไรรายย่อยที่ซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อเก็งกำไรนั้น ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นเดียวกัน แต่เป็นการได้รับผลกระทบจากทั้งจากสถานการณ์ทางการเมือง ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้อหดหาย ทำให้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา นักเก็งกำไรคอนโดมิเนียมที่รอขายใบจองนั้นไม่สามารถขายต่อได้ บางส่วนต้องรับซื้อไว้เอง หรือทิ้งเงินดาวน์ไป โดยโครงการที่รับวางดาวน์ต่ำนั้น จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะผู้ที่จองซื้อเพื่อเก็งกำไรอาจจะทิ้งใบจองเลย
“พวกนักเก็งกำไรเหล่านี้ เหมือนนักลงทุนในตลาดหุ้นที่ติดดอย ซึ่งคงต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลชุดใหม่ ว่าจะมีโครงการรถไฟความเร็วสูงหรือไม่ หรือจะนำไปพัฒนาเป็นรูปแบบใด ส่วนราคาที่ดินหรือคอนโดมิเนียมจะต่ำลงได้แค่ไหนนั้น ต้องขึ้นอยู่กับผู้ซื้อรายใหม่ว่าจะนำไปทำอย่างอื่นได้มากน้อยแค่ไหน ยกเว้นพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้า และในเมืองท่องเที่ยว ที่ไม่ได้รับผลกระทบและยังเติบโตได้ตามปกติ ส่วนการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยลงนั้น ถือว่าเป็นแรงบวกให้ธุรกิจ แต่เป็นแค่หมัดแยบในสังเวียน เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบมากกว่า โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ยังเข้มงวดอยู่”นายพรนริศ กล่าว
ขณะที่นายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ราคาที่ดินในต่างจังหวัดอาจปรับลดลงมากกว่า 50% ซึ่งจะมีผลทำให้คอนโดมิเนียมในต่างจังหวัดที่ขณะนี้เริ่มล้นตลาดแล้ว ขายได้ยากมากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการที่มีแผนจะพัฒนาพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อรองรับโครงการ 2ล้านล้านบาทนั้น จะต้องชะลอการลงทุนไปก่อน จึงถือเป็นโอกาสของผู้ซื้อที่จะได้ที่อยู่อาศัยในภูมิภาคราคาถูกลง เป็นผลดีต่อภาคแรงงาน
ด้านนายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์เดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองอย่างมาก แต่มาเดือนกุมภาพันธ์ ยอดขายเริ่มดีขึ้น และคาดว่าเดือนมีนาคมนี้ จะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่นิ่ง แต่พอเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม
ขณะที่กนง.ลดดอกเบี้ยลง จะช่วยให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น ส่วนนักเก็งกำไรที่ดินคงได้รับผลกระทบอย่างมาก จากราคาที่ดินในต่างจังหวัดที่จะปรับลดลง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น อุดรธานี ขอนแก่น และนครราชสีมา แต่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะไม่นิยมซื้อที่ดินสะสมไว้ก่อน ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะเป็นกลุ่มนักเก็งกำไรทั่วๆไป
นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ยอดการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ลดลงไปถึง 40% ขณะที่กำลังซื้อก็ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย จากหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น อีกทั้งไม่มีความเชื่อมั่น ซึ่งมีผลทำให้นักเก็งกำไรคอนโดฯ ซึ่งมีสัดส่วน 15% ของผู้ซื้อทั้งหมด ทิ้งใบจองจำนวนมากขึ้น แต่ทั้งนี้ไม่ได้เกิดจากภาวะความวุ่นวายทางการเมืองที่ส่งผลกระทบเพียงอย่างเดียว
อีกส่วนหนึ่งมาจากในปีที่ผ่านมา ที่มีสินค้าเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก ทำให้ผู้ซื้อมีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งตลาดของนักเก็งกำไรเริ่มแย่ลงตั้งแต่เดือนก่อนที่จะมีการชุมนุมทางการเมือง แต่ต้นปีนี้กลับแย่หนักลงไปอีก โดยเฉพาะโครงการที่เก็บเงินดาวน์ต่ำ เป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้เวลาก่อสร้างนาน รวมทั้งลดแลกแจกแถมมากเกินไป ไม่ได้ทำเป็นแค่สีสันของการตลาดเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าราคาบ้านคงจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากกำลังซื้อที่ลดลง ทำให้ผู้ประกอบการต้องขายราคาเดิม เพื่อประคองยอดขาย แม้ว่าต้นทุนจะยังสูงที่ระดับ10-15% และราคาที่ดินจะเริ่มลดลงก็ตาม
ข่าวเด่น