“UNFPA-สภาพัฒน์” เปิดรายงานคุณแม่วัยใสฯ ตะลึงผู้หญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี คลอดลูกทุก 2 ชั่วโมง อัตราคลอดในวัยรุ่นไทยสูงกว่าเอเชียและแปซิฟิก
กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNFPA)ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดเสวนาเปิดตัวหนังสือ “แม่วัยใส ความท้าทายการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา 2 ท่าน คือ นายคาสปาร์ พีค ผู้แทนประจำประเทศไทย กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย กับ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
หนังสือ “แม่วัยใส ความท้าทายการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” เป็นการรายงานข้อเท็จจริง และผลกระทบ รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอย่างรอบด้าน เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงปัญหาคุณแม่วัยใสอย่างจริงจัง โดยเนื้อหาของรายงานได้ชี้ให้เห็นปัจจัยที่นำมาสู่การระบาดของปัญหานี้ และได้เสนอแนะหนทางเพื่อลดแนวโน้มการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
นายคาสปาร์ พีค ผู้แทนประจำประเทศไทย กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในแต่ละปี กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติจะจัดพิมพ์ “รายงานสภาวะประชากรโลก” โดยในปีที่แล้วหัวข้อรายงานเป็นเรื่องการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และเนื่องจากประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเหมือนกัน เราจึงร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดพิมพ์ หนังสือรายงานสภาวะประชากรไทยประจำปี พ.ศ. 2556 เพื่อสะท้อนปัญหาเดียวกันในประเทศไทย
โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากความยากจน แต่ในประเทศไทยปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นคือ ความขัดแย้งกันระหว่างความเชื่อดั้งเดิมบางอย่างกับการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตของวัยรุ่นยุคใหม่ ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมทางเพศด้วย
จากข้อมูลในรายงานพบว่า ทุกๆปี มีหญิงสาวจำนวนมากกว่า 125,000 คนที่อายุน้อยกว่า 19 ปีในประเทศไทยที่กลายเป็นแม่วัยใส ซึ่งนับเป็นอัตรา 1 ใน 20 ของหญิงสาวที่อยู่ในกลุ่มอายุเดียวกัน แต่ในจำนวนนี้มีผู้หญิงอายุต่ำกว่า 15 ปีประมาณ 4,000 คน เป็นคุณแม่วัยรุ่น หมายความว่า ทุกๆ 2 ชั่วโมงจะมีผู้หญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี คลอดบุตรทุกวัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย
“ลองนึกภาพห้องเรียนที่มีนักเรียนหญิงจำนวน 20 คนและนักเรียนชายจำนวน 20 คน และลองคิดว่า อย่างน้อยนักเรียนชายคนหนึ่งและนักเรียนหญิงคนหนึ่งในจำนวนนี้กลายเป็นพ่อหรือแม่คนก่อนที่พวกเขาจะฉลองวันเกิดครบรอบ 19 ปี และถ้าท่านลองคิดว่า ในจำนวนหญิงวัยรุ่นหนึ่งคนที่คลอดบุตร น่าจะมีหญิงวัยรุ่น 2 คนหรือมากกว่าที่ตั้งครรภ์ เนื่องจากมีหญิงสาวจำนวนหนึ่งที่ยุติการตั้งครรภ์ ความจริงแล้วอาจมีหญิงวัยรุ่นจำนวนสูงถึง 350,000 คนตั้งครรภ์ทุกปี นับว่ามากเกินไปเสียแล้ว” นายคาสปาร์กล่าว
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาการคลอดบุตรของวัยรุ่นไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มอายุ 10-14 ปีมีอัตราการคลอดต่อประชากรวัยเดียวกัน 1000 คนเพิ่มขึ้นจาก 1.1 ในปี 2551 เป็น 1.8 ในปี 2555 ขณะที่กลุ่มอายุ 15-19 ปี มีอัตราการคลอดบุตรสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 50.1 ในปี 2551 เป็น 53.8 ต่อประชากรวัยเดียวกัน 1000 คนในปี 2555
นอกจากนี้กระทรวงสาธารณะสุขรายงานว่า ในปี 2555 มีการคลอดบุตรจำนวน 801,737 คน และจำนวน 129,451 คนเกิดจากคุณแม่อายุ 15-19 ปี ซึ่งมีจำนวน 2.4 ล้านคน หมายความว่า ผู้หญิงอายุ 15-19 ปี ทุกๆ 1000 คน จะมีผู้หญิงจำนวน 54 คนในช่วงวัยเดียวกันที่กลายเป็นคุณแม่ ซึ่งเป็นอัตราเพิ่มขึ้นน่าตกใจเมื่อเทียบกับ 31.1 คน ต่อ 1000 คนในปี 2543
“เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขการคลอดบุตรของวัยรุ่นในกลุ่มประเทศใกล้เคียง นับว่าน่าตกใจที่ประเทศไทยมีอัตราการคลอดของวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปีอยู่ในระดับสูงกว่าภูมิภาค โดยญี่ปุ่น เกาหลี จีน สิงคโปร์ มีเพียง 2-6 รายต่อ 1000 คน และสูงกว่าของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่มีค่าเฉลี่ยที่ 35 รายต่อ 1000 คน” นายอาคมกล่าว
ทั้งนี้ อัตราการคลอดในวัยรุ่นของไทยยังคงจัดอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยใกล้เคียงกับอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ติมอร์ และหลายประเทศในลาติอเมริกา เช่น ชิลี คอสตาริกา หรือ คิวบา
นายอาคมกล่าวว่า แนวโน้มวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี ที่กลายเป็นคุณแม่วัยใสเพิ่มขึ้นมาก พบว่า ความหนาแน่นของอัตราการคลอดบุตรอยู่ที่ภาคกลางมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้ ลักษณะที่เป็นเช่นนี้เพราะภาคกลางอยู่ในศูนย์กลางเศรษฐกิจ พ่อ แม่ ทำงานหนักไม่มีเวลาดูแลลูก และอิทธิพลของสื่อ โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ต ที่มีการเผยแพร่คลิปวีดีโอค่อนข้างระบาด ทำให้เด็กมองเรื่องเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติ ซึ่งน่าเป็นห่วง ขณะที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน สังเกตพบว่าจังหวัดที่ยากจนและอยู่ติดชายแดนจะมีตัวเลขคุณแม่วัยใสค่อนข้างสูงเช่นเดียวกัน
สำหรับแนวทางการป้องกันและลดแนวโน้มคุณแม่วัยใส
นายอาคมกล่าวว่า ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน โดยเริ่มตั้งแต่ 1. เด็กต้องรู้จักดูแลตัวเอง 2. พ่อ แม่ ทั้งเด็กชาย และเด็กหญิง ต้องให้ความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้อง 3. ครูที่โรงเรียนต้องให้เวลากับเด็กมากขึ้น ไม่ใช่สอนแต่วิชาวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ เพราะเมื่อเด็กเลิกเรียนช่วงเย็นเราแทบไม่รู้เลยว่าเด็กไปทำอะไรต่อที่ไหน 4. สังคม โดยเฉพาะชุมชน ต้องมีเป็นสังคมเอื้ออาทร บ้าน วัด โรงเรียน ต้องใกล้ชิดกันมากขึ้น และ 5. ภาครัฐ โดยบริการภาครัฐเรื่องอนามัยและสาธารณสุขภาครัฐมักจะให้บริการเฉพาะผู้ที่แต่งงานแล้ว อาจต้องทบทวนประเด็นนี้เพื่อให้เด็กหรือผู้ที่ยังไม่ได้แต่งงานแต่ต้องการรับบริการด้านนี้เข้าถึงอนามัยและสาธารณสุขของภาครัฐด้วย
“สภาพัฒน์ฯ ให้ความสำคัญด้านสังคมมาตั้งแต่การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2540 โดยพูดถึงเรื่องสังคมไว้ค่อนข้างเยอะเป็นเพราะมองเห็นว่า จำเป็นต้องรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจและด้านภาวะสังคมให้สมดุลกัน เพื่อป้องกันไม่ให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในอัตราที่สูงมีผลกระทบข้างเคียงต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม” นายอาคมกล่าว
นายอาคมย้ำว่า การแก้ปัญหาคุณแม่วัยใสทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพื่อลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นให้เป็นไปตามที่ กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายไว้ว่าอีก 5 ปีข้างหน้า อัตราการคลอดในหญิงอายุ 15-19 ปี จะไม่เกิน 50 คนต่อ 1000 คนในประชากรวัยเดียวกัน จาก 53.8 คน ต่อ 1000 คน ปี 25555
ข่าวเด่น