เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านชะงักไม่ฉุดจีดีพี


 

 

 

มติศาลรัฐธรรมนูญทำให้พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านชะงักงัน กระทบต่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์อยู่บ้าง แต่เหล่ากูรูเศรษฐกิจเชื่อผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจมีไม่มาก  

 

 

 

 

แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ระบุว่า  ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ 2 ล้านล้านบาท มีเนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและมีมติ 6 ต่อ 2 เห็นว่ากระบวนการตรากฎหมายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งหลังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์  ที่ต้องยอมรับว่า ราคาที่ดินในต่างจังหวัดได้ปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา  พร้อมกับการก่อสร้างที่อยู่อาศัย   โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มคอนโดมิเนียม

 

 

นายอุทัย  อุทัยแสงสุข  รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานพัฒนาธุรกิจ และพัฒนาคอนโดมิเนียม บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า  บริษัทคงต้องชะลอการลงทุนในต่างจังหวัดออกไปก่อน  เพราะเมื่อโครงการลงทุน  2 ล้านล้าน ไม่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อธุรกิจบ้าง  เพราะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งสะดุด ทำให้เกิดการจ้างงานเศรษฐกิจและกำลังซื้อของคนในพื้นที่ชะลอตัวลง

 

 

แต่สำหรับมุมมองของนักวิชาการ และนักเศรษฐศาสตร์   กลับมีความเห็นที่แตกต่าง  โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร  เทวกุล   อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ระบุว่า  นักธุรกิจไม่ควรกังวลกับเรื่องนี้มากนัก    เพราะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะในส่วนที่จำเป็นยังสามารถเดินหน้าต่อได้ด้วยการใช้งบประมาณตามปกติ  หากมีรัฐบาลใหม่เข้ามา ทั้งโครงการรถไฟรางคู่, โครงการถนน และโครงการท่าเรือน้ำลึกในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งคิดเป็นเงินลงทุนราว 1.22 ล้านล้านบาท  จะใช้ระยะเวลาลงทุนราว 6 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 2 แสนล้านบาท โดยผ่านการจัดทำงบประมาณลงทุนปกติ และ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะยังเปิดช่องให้รัฐบาลกู้ได้อีก 10% ของงบประมาณปกติ    ซึ่งเชื่อว่าเพียงพอรองรับการลงทุนที่จำเป็นทั้งหมดได้

และเชื่อว่า การกู้เงินตามกรอบงบประมาณทั้งหมดจะไม่เกินกรอบวินัยการคลังที่ 60%   เพราะโครงการในส่วนนี้ได้ตัดโครงการที่ไม่จำเป็นออก เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงวงเงิน 7.8 แสนล้านบาท    โดยเฉพาะเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ไม่จำเป็น เนื่องจากมีสายการบินโลว์คอส  ซึ่งมีค่าบริการต่ำให้บริการอยู่แล้ว

 

 

 

ขณะที่นายสมประวิณ    มันประเสริฐ    รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า  การเลื่อนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ไม่น่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจปีนี้มากนัก เพราะปกติแล้วการลงทุนขนาดใหญ่จะมีผลต่อเศรษฐกิจระยะยาวของประเทศมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายการใช้งบประมาณ ก็คงทยอยใช้อยู่แล้ว   ดังนั้นผลกระทบระยะสั้น 6 เดือนถึง 1 ปี  จึงไม่ได้เห็นผลกระทบอะไรที่ชัดเจน

แต่ในระยะยาวคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพิ่ม  เพียงแต่มติของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา ทำให้ผู้กำหนดนโยบายต้องกลับมาคิดว่า จะดำเนินการอย่างไร   เพื่อจัดลำดับความสำคัญของโครงการได้อย่างถูกต้อง

 

 

สอดคล้องกับนายกำพล  อดิเรกสมบัติ  เศรษฐกรอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ บล. ทิสโก้ จำกัด (มหาชน)  ที่ระบุว่า  ผลกระทบที่เกิดกับภาพรวมเศรษฐกิจคงไม่ได้มาก   เพราะสำนักวิจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้คาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่า พ.ร.บ.นี้คงเกิดยาก  ดังนั้นผลกระทบต่อเศรษฐกิจจึงไม่ได้มากนัก
 


LastUpdate 18/03/2557 13:15:03 โดย : Admin
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 4:42 am