เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
สัญญาณ "ดอกเบี้ยขาลง" กระตุ้นเศรษฐกิจไทย


 
 
 
 
สัญญาณการดำเนินนโยบายผ่อนคลายอัตราดอกเบี้ย ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อ นางรุ่ง มัลลิกะมาส โฆษก ธปท. ยอมรับว่า ปีนี้ ธปท.ไม่ได้คิดว่าเศรษฐกิจจะโตได้ต่ำกว่า 3%
 
 
 
 
 
เพราะหากประเมินจากศักยภาพที่แท้จริงของไทยแล้ว เศรษฐกิจควรจะเติบโตได้ถึง 4-5% แต่ขณะนี้ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ต่ำกว่าศักยภาพ เนื่องมาจากดัชนีชี้วัดหลายตัวหรือเกือบทุกตัวที่ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน การลงทุนของภาครัฐ รวมถึงการส่งออกที่แม้ว่าจะเริ่มฟื้นตัวแล้ว แต่ก็ไม่ใช่การฟื้นตัวได้ดีเต็มที่หรือเต็มศักยภาพ เนื่องมาจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ได้โตในระดับปกติ แม้ว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นก็ตาม
 
การที่เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่นโยบายการเงินจึงต้องผ่อนคลาย และดอกเบี้ยอาร์พีล่าสุดจึงปรับลดลงมาอยู่ที่ 2% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 
 
ซึ่งมุมมองดังกล่าว ยังสอดคล้องกับภาคเอกชนที่ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นหน่วยงานลาสุดที่ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ลดลงเหลือ 2.5% หรือในกรอบ 2-3% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 4.5% เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการจัดเลือกตั้งรัฐบาลที่ยังไม่สำเร็จ ทำให้เศรษฐกิจไทยสูญเสียรายได้ในช่วงครึ่งปีแรก 4.2 แสนล้านบาท

โดยเฉพาะการลงทุนโครงการบริหารจัดการน้ำและพระราชบัญญัติลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2 ล้านล้านบาทที่สะดุดลง ทำให้กระทบเงินลงทุน 1 แสนล้านบาท และการประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ภาคท่องเที่ยวสูญเสียรายได้เดือนละ 5 หมื่นล้านบาท การบริโภคและการลงทุน เม็ดเงินหายไปเดือนละ 2 หมื่นล้านบาท 
 
 
 
 
 
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังเชื่อว่า สถานการณ์การเมือง มีแนวโน้มคลี่คลายลง หลังรัฐบาลยกเลิกประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และหากจัดตั้งรัฐบาลได้ในเดือนพฤษภาคมนี้ เศรษฐกิจมีโอกาสสูงถึง  6.5% ที่จะขยายตัว 2.5% แต่หากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ในครึ่งปีแรก งบประมาณปี 2558 ล่าช้า เศรษฐกิจอาจไม่ขยายตัว หรือหากทั้งปีนี้ยังไม่มีรัฐบาลใหม่เกิดขึ้น ละการชุมนุมทางการเมืองเกิดเหตุการณ์ปะทะรุนแรง เศรษฐกิจอาจติดลบ 1%

การส่งสัญญาณทิศทางดอกเบี้ยขาลงของไทย ถือว่าสวนทางกับอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ โดยเฉพาะหลังการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ที่มีสัญญาณที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่ากำหนด ซึ่งในยุคโลกาภิวัฒน์ที่เงินทุนจากต่างประเทศเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี จึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญ ของผู้กำหนดนโยบายทั้งกระทรวงการคลังและ ธปท.ที่จะต้องรักษาสมดุลและหาแนวทางรับมือผลกระทบข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต


 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 มี.ค. 2557 เวลา : 13:34:36
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 4:21 am