ไทยปีนี้แล้งหนัก หลายฝ่ายเตือนรับมือภัยแล้งรุนแรงในรอบ10-15 ปี30 จังหวัด ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว
วิกฤตภัยแล้งที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อเกษตกรและเศรษฐกิจไทยแล้ว นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยแล้งแล้ว 30 จังหวัด 184 อำเภอ 1,125 ตำบล 10,163 หมู่บ้าน
ดังนั้นประชาชนควรใช้น้ำอย่างประหยัด เกษตรกรควรวางแผนเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำและแผนการจัดสรรน้ำในพื้นที่เลือกปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อยงดการทำนาปรัง
ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ยังส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรอีกเช่นกัน โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้รายงานภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ขยายตัวร้อยละ 0.5 จากแรงขับเคลื่อนในสาขาพืช จากผลผลิตพืชที่สำคัญ เช่น ข้าวนาปีอ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ และผลผลิตปศุสัตว์ เช่น ไก่เนื้อ สุกรไข่ไก่ และน้ำนมดิบ
รวมถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีทิศทางที่ดีขึ้น เงินบาทที่อ่อนค่าลงทำให้ราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้น
ผลิตทางการเกษตรในช่วงไตรมาส 2 ยังคงมีความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงที่อาจยาวไปจนถึงต้นฤดูเพาะปลูกในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตสินค้าเกษตรมากขึ้น โดยเฉพาะข้าวนาปรังในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนที่จะได้รับผลกระทบอย่างมากเนื่องจากปริมาณน้ำภายในเขื่อน สำคัญ ได้แก่ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ที่มีไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบสอง
ด้านสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)คาดว่า ภัยแล้งปีนี้อาจจะหนักที่สุดในรอบ 15 ปี ผู้อำนวยการสสว.นายปฏิมาจีระแพทย์ ยอมรับว่า ได้ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งของประเทศที่เริ่มส่งผลกระทบนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2556 เป็นต้นมา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากหลายสำนักได้คาดการณ์ว่า ปี 2557 ประเทศไทยจะประสบวิกฤติภัยแล้งที่หนักที่สุดในรอบ 10-15 ปี
สาเหตุสำคัญเกิดจากปริมาณน้ำสำรองในเขื่อนต่างๆมีน้อยกว่าทุกปี มีการปลูกพืชในฤดูแล้ง โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงมากขึ้นถึง 8.73 ล้านไร่ (ข้อมูล ณ 20 ก.พ. 2557) นอกจากนี้ยังมีปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงรุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี ส่งผลให้น้ำมีความเค็มเกินกว่ามาตรฐาน ซึ่งคาดการณ์ว่าในปีนี้พื้นทางการเกษตรจะได้รับความเสียหายจากภัยแล้งไม่น้อยกว่า 10.72 ล้านไร่ ใน 45 จังหวัด ขณะที่ความเค็มของน้ำยังส่งผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภคทั้ง ในภาคครัวเรือน ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจชุมชน (OTOP) รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ซึ่งใช้ผลิตผลทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบ จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญในการเตรียมการรองรับเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ท่ามกลางวิกฤติการณ์
ข่าวเด่น