คปภ. กางแผนปี 57 มั่นใจเบี้ยประกันโต 10% โกยเบี้ยทะลุ 7 แสนล้านบาท รับภาวะเศรษฐกิจกระทบบ้าง แต่โอกาสเติบโตอีกเพียบชูไมโครอินชัวรันซ์รุกสร้างความสนใจทำประกัน ปิ๊งไอเดียทำ "บัตรกำนัลประกัน 200" ต่อยอดขายธุรกิจแจกพนักงาน เพิ่มสวัสดิการ-คุ้มครองชีวิต
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่าปีนี้ตลาดประกันภัยทั้งระบบน่าจะเติบโตได้ประมาณ 10% จากปีที่แล้วหรือคิดเป็นมูลค่าเบี้ยรับรวมไม่น้อยกว่า 7 แสนล้านบาทในจำนวนนี้จะแบ่งเป็นเบี้ยจากประกันชีวิตประมาณ 5 แสนล้านบาทและเบี้ยประกันวินาศภัยอีก 2.2 แสนล้านบาท เติบโตอย่างละ 10% ทั้งคู่
"แนวโน้มการเติบโตนี้เราประเมินบนพื้นฐานสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของปีนี้เข้าไปแล้วแม้ว่า สภาพเศรษฐกิจที่กำลังถูกกระทบจากปัญหาทางการเมืองมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วแต่ก็ยังมองว่าธุรกิจน่าจะยังพอเติบโตได้ เพราะพื้นฐานของธุรกิจนี้ค่อนข้างดีมีโอกาสเติบโตอีกมาก"
นายประเวชกล่าวอีกว่าปัจจุบันสัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อจีดีพีของไทยนั้นยังถือว่าไม่สูงมากปีที่ผ่านมาคิดเป็นสัดส่วน 5.42% ของจีดีพี และมั่นใจว่าจะเติบโตเป็น 6% ของจีดีพีได้ในปีนี้ ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของแผนพัฒนาธุรกิจประกันภัย ฉบับที่ 2 พอดีแต่กระนั้นเมื่อเทียบกับประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียที่มีสัดส่วนเบี้ยประกันต่อจีดีพีอยู่ราว 7-8% แล้ว ไทยก็ยังมีโอกาสเติบโตได้เพิ่มขึ้น
นอกจากการเติบโตตามการแข่งขันของธุรกิจประกันภัยในตลาดแล้ว นายประเวช กล่าวว่า คปภ.ยังมีแผนจะผลักดันประกันภัยสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันซ์) หรือ ประกันภัย 200 เพื่อเป็นทางเลือกความคุ้มครองชีวิตและหลักประกันให้แก่ครอบครัวให้เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้นรวมถึงมีแผนจะออกแบบประกันอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มไมโครอินชัวรันซ์ออกมาเพิ่มเติมด้วยจากปัจจุบันที่มีเพียงประกันอุบัติเหตุ
เบื้องต้นตั้งเป้าหมายว่า จะสามารถขายกรมธรรม์นี้ได้ไม่น้อยกว่า 7 แสนกรมธรรม์ภายในปีนี้ แม้ปัจจุบันจะยังทำได้ไม่มากนัก คือประมาณ 4 หมื่นกรมธรรม์แต่แผนในปีนี้จะขยายช่องทางขายใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ไปรษณีย์ไทยที่คาดว่าจะมียอดขายหลายแสนกรมธรรม์
ล่าสุดได้พัฒนาเป็นบัตรกำนัลประกันภัย 200 ซึ่งจะเสนอให้ทางสมาคมธุรกิจต่างๆ เช่น หอการค้า หรือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแนะนำบัตรกำนัลนี้ให้ธุรกิจนำไปเป็นของขวัญหรือสวัสดิการให้แก่พนักงานได้เพียงแค่นำบัตรกำนัลและบัตรประชาชนไปยื่นที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส ในร้านสะดวกซื้อก็สามารถลงทะเบียนเริ่มความคุ้มครองได้ทันที
"เราไม่ได้มองว่า กรมธรรม์นี้จะเป็นส่วนสำคัญที่สร้างเบี้ยโดยตรงแต่มองว่า เป็นตัวกระตุ้นเตือนให้ประชาชนตระหนักถึงการทำประกันภัยและบริหารความเสี่ยงมากขึ้นมีทางเลือกซื้อในโอกาสต่างๆ ได้มากขึ้นหรือแม้แต่การเห็นว่า กรมธรรม์นี้อาจจะให้ความคุ้มครองน้อยเกินไปหรือไม่ตรงกับความต้องการ ประชาชนก็หันไปเลือกซื้อประกันภัยแบบอื่นแทนถือว่าประสบความสำเร็จที่ทำให้ประกันภัยสามารถเข้าถึงประชาชนได้เช่นกัน"นายประเวช กล่าว
ทั้งนี้ ธุรกิจประกันภัยทั้งระบบในปี 2556 นั้นมีเบี้ยทั้งสิ้น 644,362 ล้านบาท ขยายตัว 13% แบ่งเป็นเบี้ยประกันชีวิต 441,349 ล้านบาท เติบโต 13% ซึ่งการเติบโตส่วนใหญ่มาจากประกันชีวิตรายสามัญและประกันชีวิตแบบกลุ่มขณะที่เบี้ยประกันวินาศภัยอยู่ที่ 203,013 ล้านบาท เติบโต 13% การเติบโตส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประกันภัยรถยนต์ ประกันอัคคีภัยและประกันภัยเบ็ดเตล็ด
ข่าวเด่น