แบงก์-นอนแบงก์
"ทีเอ็มบี"ชี้หนี้เสียขยับขึ้นหลังการเมืองกดเศรษฐกิจแผ่ว ห่วงเอสเอ็มอีอาการแย่ "ยอดขายวูบ-ยืดจ่ายเงิน"


 


"ทีเอ็มบี"ส่งซิกหนี้เสียเริ่มขยับ หลังเศรษฐกิจชะลอ แจงเอสเอ็มอีเจอปัญหายอดขายตก-ยืดจ่ายเงิน หวั่นสภาพคล่องขาดมือ ซ้ำดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจหดลงต่อเนื่อง ชี้ชัดผู้ประกอบการกังวลมาก ห่วงกระทบลูกโซ่ถึงจ้างงาน ลามถึงสินเชื่อรายย่อย

 
 
 
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตชะลอตัวลง อันเป็นผลกระทบจากปัจจัยความไม่สงบทางการเมืองนั้น ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อของกลุ่มธนาคารบ้างแล้วพอสมควร โดยเริ่มเห็นสัญญาณว่าปริมาณหนี้เสียเริ่มปรับตัวขึ้นมาตังแต่เดือน พ.ย. 56 จนมาถึงเดือน ม.ค. 57 ก่อนจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา

"แม้ว่าสถานการณ์เดือน ก.พ. จะดูดีขึ้น ก็อาจเป็นเพราะมาตรการที่ธนาคารเข้าไปดูแลลูกค้าใกล้ชิดมากขึ้น เราคงยังไม่รีบสรุปว่าสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว แต่ยังคงต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิดต่อไป และมองว่าภาพรวมในไตรมาส 1/57 อัตราหนี้เสียน่าจะทรงตัวในระดับเดียวกับช่วงปลายปีที่แล้วได้"

 
 
ส่วนผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอีนั้น นายบุญทักษ์กล่าวว่า เริ่มมียอดขายที่ลดลงตามการบริโภคในประเทศและกำลังซื้อที่ลดลง เนื่องจากที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาภาระหนี้ครัวเรือนสูงมาก่อนแล้ว นอกจากนี้ ยังเริ่มเห็นปัญหาว่าคู่ค้าเริ่มยืดเวลาการชำระเงินกันมากขึ้น เพื่อรักษาสภาพคล่องของตนเอง จึงน่าเป็นห่วงว่าหากธุรกิจบริหารสภาพคล่องไม่ดี ก็อาจมีปัญหาได้

นายบุญทักษ์ กล่าวอีกว่า ผลการสำรวจเพื่อประเมินดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี ซึ่งสำรวจจากการสอบถามผู้ประกอบการเกี่ยวกับภาวะธุรกิจเอสเอ็มอีและปัจจัยทางบวก-ลบต่อการดำเนินธุรกิจเอสเอ็มอีนั้น 

พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 38 จากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 40 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่า 50 หมายถึง ผู้ประกอบการไม่ค่อยเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน และยังอยู่ในทิศทางที่ลดลงต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้ว ก็ยิ่งเห็นชัดว่าผู้ประกอบการกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองว่ามีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจมาก

เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้านั้น ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ 51 ลดลงจากเดือนก่อนหน้านี้ซึ่งอยู่ที่ 54 แม้โดยค่าดัชนีจะสูงกว่า 50 ซึ่งหมายถึงผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นว่าในระยะ 3 เดือนข้างหน้านั้น ภาวะเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น เอื้อต่อการประกอบธุรกิจได้ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน

แต่แนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นใน 3 เดือนข้างหน้าก็ยังเป็นทิศทางที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้วเช่นกัน ซึ่งดัชนีนี้จะมีผลต่อการวางแผนทางธุรกิจ การลงทุน และการจ้างงานของธุรกิจในอนาคตด้วย ถ้าไม่เชื่อมั่นว่าอนาคตจะเติบโตได้ดีขึ้น ก็ย่อมไม่กล้าลงทุน เพิ่มการผลิต หรือเพิ่มการจ้างงานเช่นกัน

"เรามองว่า ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจมีผลมากสำหรับการตัดสินใจลงทุนและการขอสินเชื่อด้วย เมื่อการใช้จ่ายของรัฐบาลชะลอลงก็กระทบต่อการลงทุนต่างๆ ของภาคเอกชนไปด้วยเหมือนกัน โดยรวมแล้วมีผลกระทบกันทั้งนั้น ตอนนี้ถือว่ายังกระทบในระดับหนึ่ง ยังไม่ลากยาวมาถึงภาคการจ้างงาน ถ้ากระทบไปถึงขนาดนั้นคงเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาผิดนัดชำระกันมากขึ้น ทั้งสินเชื่อรายย่อยและสินเชื่อธุรกิจด้วย" นายบุญทักษ์กล่าว
 

LastUpdate 26/03/2557 14:51:53 โดย : Admin
23-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 23, 2024, 8:20 pm