เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
Win-Win ท่ามกลางความผันผวนของค่าเงินหยวนที่สูงขึ้น


 

 

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองผู้ประกอบการไทย-จีน win-win หากเปลี่ยนมาทำธุรกิจในสกุลเงินหยวนแทนดอลลาร์มากขึ้น หลังความผันผวนค่าเงินสูงขึ้นจากการขยายกรอบรายวันของค่าเงินหยวน

 

 

  

 

การทำธุรกรรมระหว่างประเทศ แน่นอนว่า สกุลเงินหลักที่ใช้ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของค่าเงินหยวนบนเวทีการค้าโลกได้มีมากขึ้นอย่างรวดเร็วจนไม่อาจมองข้ามได้ จากการรายงานของสมาคมสื่อสารการเงินระหว่างธนาคารนานาชาติ (SWIFT)  โดยสกุลเงินหยวนได้แซงหน้ายูโรในการทำธุรกรรมสินเชื่อเพื่อการค้าระหว่างประเทศ หรือ Trade Finance (เช่น หนังสือรับรองเครดิต หรือ L/C) ขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากดอลลาร์ไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา โดยมีสัดส่วนทั้งหมดร้อยละ 8.66 จากเคยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.89 ในเดือนมกราคม 2555 เท่านั้น นั่นหมายความว่าการทำธุรกรรมระหว่างประเทศในสกุลเงินหยวนเติบโตกว่าร้อยละ 360 ในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี

 

อย่างไรก็ตามคงไม่เกินจริงหากจะกล่าวว่า หยวนเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่ถูกควบคุมมากที่สุดสกุลหนึ่งของโลก ธนาคารกลางจีนทำการผูกค่าเงินหยวนไว้กับค่าเงินดอลลาร์จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม 2548 ที่ประมาณ 8.28 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนเริ่มผ่อนคลายความเข้มงวดต่อเงินหยวนอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 21 กรกฎาคม 2548 ธนาคารกลางจีนยกเลิกการผูกค่าเงินหยวนกับดอลลาร์ ส่งผลให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นถึงร้อยละ 2 มาอยู่ที่ระดับ 8.11 หยวนต่อดอลลาร์ในวันนั้น

 

หลังจากนั้นค่าเงินหยวนก็มีวิวัฒนาการเรื่อยมา ล่าสุด ในวันที่ 17 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนอนุญาตให้ค่าเงินดอลลาร์หยวนสามารถเหวี่ยงได้ในกรอบร้อยละ 2 จากอัตราอ้างอิงในแต่ละวัน จากเดิมกรอบถูกกำหนดไว้ที่เพียงร้อยละ 1 โดยอัตราอ้างอิงดังกล่าวจะถูกประกาศโดยธนาคารกลางจีนทุกๆเช้า นั่นหมายความว่า ค่าเงินดอลลาร์หยวนมีโอกาสที่จะมีความเสี่ยงหรือความผันผวนมากขึ้นในแต่ละวัน

 

 

แล้วความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์หยวนมีมากขึ้นจริงหรือไม่? หลักจากผ่านมาได้กว่าหนึ่งสัปดาห์ ทางศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี จึงทำการเปรียบเทียบความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์หยวนในสัปดาห์ก่อนหน้าที่จะมีการขยายกรอบกับสัปดาห์หลังการขยายกรอบ ผลลัพธ์ที่ได้คือ ความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์หยวนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ข้อมูลความถี่สูงรายชั่วโมงแสดงให้เห็นว่า ความผันผวนของค่าเงินหยวนต่อดอลลาร์เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวหลังจากมีการขยายกรอบและมีที่ท่าว่าแนวโน้มดังกล่าวจะคงอยู่ต่อไป ทำให้การแลกเปลี่ยนระหว่างดอลลาร์และหยวนมีความเสี่ยงมากขึ้น 

 

แม้ในปัจจุบัน สกุลเงินหลักที่ถูกใช้ในการค้าระหว่างไทยกับจีนยังคงเป็นเงินสกุลเงินดอลลาร์อยู่ นั่นหมายความว่า ผู้ประกอบการไทยต้องคอยแปลงเงินบาทเป็นเงินดอลลาร์หรือเงินดอลลาร์เป็นเงินบาท ในขณะที่ผู้ประกอบการจีนก็ต้องคอยแปลงเงินหยวนกับดอลลาร์เช่นเดียวกัน จากการรายงานในข้างต้น ผู้ประกอบการจีนต้องเจอกับความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์หยวนที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับผู้ประกอบการไทยที่ต้องเผชิญกับค่าเงินดอลลาร์บาทที่มีความผันผวนรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน นั่นคือ lose-lose ทั้งสองฝั่ง จากการไม่สามารถปิดความเสี่ยงในธุรกรรมด้านใดด้านหนึ่งได้อย่างสมบูรณ์

 

ดังนั้น การค้าขายโดยใช้สกุลเงินหยวนจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจในการทำการค้าระหว่างผู้ประกอบการไทยและจีน โดยอาจจะเริ่มทยอยทำเพียงบางส่วนของธุรกรรม แน่นอนว่าผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจีนจะได้รับ คือ การกำจัดความเสี่ยงค่าเงินอย่างสิ้นเชิง

 

ดังนั้นผู้ประกอบการไทยอาจใช้เหตุผลดังกล่าวเป็นข้อต่อรองในการทำธุรกิจกับจีนเพื่อให้ได้ข้อต่อรองที่ดีขึ้น ผู้ส่งออกอาจขอขายในราคาที่สูงขึ้น ด้านผู้นำเข้าอาจขอซื้อในราคาที่ต่ำลง การค้าขายกับจีนผ่านเงินหยวนโดยตรงจึงน่าจะเป็นการลดความเสี่ยงตามธรรมชาติ ซึ่งให้ประโยชน์แก่คู่ค้าทั้งสองฝ่ายได้ หรือ คือ กลยุทธ์ win-win ท่ามกลางความผันผวนของค่าเงินหยวนนั่นเอง ?


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 มี.ค. 2557 เวลา : 14:24:00
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 4:52 am