เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
จับตาสถานการณ์ภัยแล้ง อาจกระทบธุรกิจเกษตรไทย


 

 

 

EIC เตือนภัยแล้งปีนี้รุนแรงมากกว่าปกติ หวั่นแล้งยืดเยื้อถึงช่วงหน้าฝน  ชี้หากเกิดขึ้นจริง ส่งผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญลด ผลักดันให้ราคาสินค้าเกษตรและอัตราเงินเฟ้อในประเทศเพิ่ม กระทบรายได้และเศรษฐกิจตามมา

 
 
 

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ อีไอซี(EIC) ออกบทวิเคราะห์ เรื่อง “จับตาสถานการณ์ภัยแล้ง ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อธุรกิจเกษตรไทย” ระบุว่า ภัยแล้งในปัจจุบันเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล แต่ปีนี้มีระดับความรุนแรงมากกว่าปกติ  ซึ่งโดยปกติภัยแล้งในไทยจะเกิดขึ้นใน 2 ช่วงเวลา คือ 1) ช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องถึงฤดูร้อน หรือราว เดือน พ.ย. – กลางเดือน พ.ค. ซึ่งภัยแล้งลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี จึงเรียกอีกนัยหนึ่งว่า “ภัยแล้งตามฤดูกาล” 2) ช่วงกลางฤดูฝน ตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย. – ก.ค. ภัยแล้งในช่วงนี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อสภาพภูมิอากาศโลกผิดปกติ โดยภัยแล้งในลักษณะนี้จะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรค่อนข้างมาก จากข้อมูลล่าสุดของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ประสบภัยแล้งตามฤดูกาลแล้ว 30 จังหวัด

 

ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งในระดับที่รุนแรงมากกว่าปกติ โดยจากข้อมูลของกรมชลประทาน พบว่า ในช่วงต้นฤดูแล้ง (1 พ.ย. 2013) ปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนต่างๆ ในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ โดยมีปริมาณน้ำต้นทุนราว 16 พันล้านลูกบาศก์เมตร ปรับตัวลดลงจากปีที่ผ่านมาราว 11% ซึ่งปริมาณน้ำต้นทุนที่ลดลงดังกล่าวส่งผลให้ปริมาณน้ำที่จัดสรรไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้งลดลงราว 41% จากปีที่ผ่านมา เป็นผลให้พื้นที่ที่กรมชลประทานจัดสรรให้เกษตรกรปลูกข้าวนาปรัง ลดลงจากปีที่ผ่านมาราว 4.5 ล้านไร่

 

ข้าวนาปรังซึ่งเป็นพืชที่ปลูกในช่วงหน้าแล้ง จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ในขณะที่พืชชนิดอื่นๆ จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อข้าวนาปรังมากที่สุด เนื่องจากเป็นพืชหลักเพียงชนิดเดียวที่มีการปลูกในช่วงหน้าแล้ง โดยกว่า 80% ของการปลูกข้าวนาปรังจะปลูกในช่วงเดือน พ.ย. – เม.ย. ในขณะที่พืชชนิดอื่น เช่น ข้าวนาปี ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากเพาะปลูกในช่วงหน้าฝนและเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงหน้าแล้ง โดยจากข้อมูลการคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังในปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากปีที่ผ่านมาราว 5 แสนตัน หรือปรับตัวลดลงราว 5% ซึ่งเป็นผลมาจากพื้นที่เพาะปลูกที่ลดลง เป็นหลัก โดย อีไอซี มองว่า ผลผลิตข้าวนาปรังที่ลดลงไม่น่าจะช่วยพยุงราคาข้าวในตลาดที่กำลังปรับตัวลดลงได้มากนัก เนื่องจากสต็อกข้าวของรัฐบาลยังอยู่ในระดับสูง

 

 

ปัจจัยที่ต้องจับตามองในระยะต่อไป คือ สภาวะภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงหน้าฝน ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง จะส่งผลให้ผลผลิตพืชหลักๆ ของไทยปรับตัวลดลง ผลักดันให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น   กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2014 มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ในไทย ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะส่งผลให้ไทยประสบกับภาวะภัยแล้งในช่วงหน้าฝน ส่งผลให้ผลผลิตพืชที่สำคัญของไทยปรับตัวลดลง โดยจากข้อมูลในปี 2005 ซึ่งเป็นปีที่ไทยประสบกับปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี พบว่า ผลผลิตอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา ปรับตัวลดลงราว 24%, 21% 6%และ 1% ตามลำดับ

 

อย่างไรก็ดี ในกรณีของยางพารา อีไอซี มองว่า หากเกิดภัยแล้งขึ้นในหน้าฝน ก็มีแนวโน้มที่ผลผลิตยางพาราจะปรับตัวลดลงมากกว่าปี 2005 เนื่องจาก ปัจจุบันผลผลิตยางพาราของไทยมาจากพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ซึ่งมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงกว่าภาคใต้) ราว 4.3 แสนตัน หรือคิดเป็น 12% ของผลผลิตทั้งประเทศ แตกต่างจากปี 2005 ที่มีผลผลิตยางพาราจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพียง 0.9 แสนตัน หรือราว 3% ของผลผลิตทั้งประเทศ   โดยผลผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลงจะช่วยผลักดันให้ราคาที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยชดเชยให้รายได้โดยรวมของเกษตรกรปรับตัวลดลงไม่มากนัก

 

 อีไอซี มองว่า ผลผลิตที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการในธุรกิจน้ำตาล ยางพารา   มันสำปะหลังและปศุสัตว์ ในขณะเดียวกันยังจะผลักดันให้เงินเฟ้อในประเทศปรับตัวสูงขึ้น จากข้อมูลในปี 2005 พบว่า     สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกข้าว น้ำตาล มันสำปะหลังปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก และทำให้มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลง 14%, 13% และ 1% ตามลำดับ ซึ่งหากเกิดภัยแล้งขึ้นในฤดูฝนปี 2014 ก็มีความเป็นไปได้ที่ปริมาณการส่งออกน้ำตาลและมันสำปะหลังจะปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน ส่งผลให้รายได้ของผู้ส่งออกปรับตัวลดลงตามไปด้วย

 

แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีของข้าว ผู้ประกอบการอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากสามารถประมูลข้าวในสต็อกรัฐบาลเพื่อใช้ในการส่งออกได้ นอกจากนี้ อีไอซี มองว่า แม้ในปี 2005 มูลค่าการส่งออกยางพาราจะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ผลกระทบจากภัยแล้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นครั้งนี้ อาจจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกยางพาราปรับตัวลดลง เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่ผลผลิตยางพาราจะปรับตัวลดลงมากกว่าปี 2005 ในขณะที่ผู้ประกอบการในธุรกิจปศุสัตว์จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ตามการเพิ่มขึ้นของราคาข้าวโพด โดยผู้ประกอบการในธุรกิจไก่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากมีการใช้ข้าวโพดเป็นส่วนผสมการทำอาหารไก่ในสัดส่วนที่สูงราว 60% ในขณะที่ผู้ประกอบการในธุรกิจหมูและเป็ด จะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากมีสัดส่วนการใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ในระดับต่ำราว 20-30%

 

นอกจากนั้น ผลผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลงจะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ผลักดันให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยในปี 2005 เงินเฟ้อในหมวดอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 5% ส่วนรายได้เกษตรกรที่ลดลง จะส่งผลกระทบต่อการบริโภคในประเทศ ส่งผลให้กำลังซื้อของเกษตรกรปรับตัวลดลงตามไป ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อการบริโภคในประเทศ อย่างไรก็ดี ผลกระทบดังกล่าวน่าจะมีไม่มากนัก เนื่องจากการบริโภคของครัวเรือนในภาคเกษตร (ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ) คิดเป็นสัดส่วนราว 17% ของการบริโภครวมทั้งประเทศ

 

ดังนั้นผู้ประกอบการที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบควรเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหาร   ตันทุนการผลิต หากราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นและผู้ประกอบการไม่สามารถปรับราคาสินค้าให้สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของต้นทุน จะส่งผลให้อัตราการทำกำไรของผู้ประกอบการลดลง ดังนั้น ผู้ประกอบการควรที่จะมีการลดต้นทุนการผลิตเพื่อที่จะรักษาระดับกำไรไม่ให้ปรับตัวลดลงมากนัก ผ่านการใช้วัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพและลดการสูญเสียวัตถุดิบระหว่างการผลิต

 

ด้านภาครัฐควรมีมาตรการที่เอื้อต่อการนำเข้าผลผลิตทางการเกษตรที่ขาดแคลน ตัวอย่างเช่น การปรับลดภาษีการนำเข้าข้าวโพด จากปัจจุบันที่ผู้ประกอบการจะต้องเสียภาษีสูงถึง 73% และเสียค่าธรรมเนียมพิเศษอีก 180 บาทต่อตัน ซึ่งการปรับลดดังกล่าวนอกจากจะเป็นการช่วยลดภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ ยังเป็นการช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในประเทศให้ไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก

 

 


LastUpdate 27/03/2557 19:35:32 โดย : Admin
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 4:54 am