ข่าวร้ายล่าสุดของเศรษฐกิจไทย เมื่อ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เปิดเผยว่า เอดีบีปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทย ลงเหลือ 2.9% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.5% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อเทียบกับฟิลิปปินส์ที่คาดเติบโต 6.4% อินโดนีเซีย 5.7% และ มาเลเซีย 5.1%
เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อ บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจ ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนยังได้รับผลกระทบจากการจ่ายเงินตามโครงการรับจำนำข้าวที่ล่าช้าและความไม่แน่นอนของโครงการ
ADB คาดการณ์แนวโน้มจีดีพี (57)
1.ฟิลิปปินส์เติบโต 6.4%
2.อินโดนีเซีย 5.7%
3.มาเลเซีย 5.1%
4.ไทย 2.9%
นอกจากนี้ หนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงถึง 80.1% ของจีดีพี ยังกดดันให้การบริโภคชะลอลง ส่วนการส่งออกในปีนี้ คาดเติบโต 5.5-6% การลงทุนขยายตัว 1-1.5% และการบริโภค 1.5-2% แต่หากไทยไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะโตต่ำกว่า 2%
ส่วนความท้าทายของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ การออกแบบและการดำเนินนโยบาย เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า นโยบายของไทยเป็นการใช้จ่ายงบประมาณไปโดยที่ผลในเชิงพัฒนาไม่ชัดเจน เช่น โครงการรับจำนำข้าว การอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง นโยบายรถคันแรก และการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ แม้นโยบายดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง แต่ปัญหาคือนโยบายดังกล่าวไม่ได้ถูกออกแบบ เพื่อให้กลุ่มประชาชนที่อ่อนแอได้รับผลประโยชน์จากนโยบาย และไม่ได้ช่วยเพิ่มผลิตภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว
ดังนั้นแนวทางในการแก้ไขปัญหา ควรมีการจัดตั้งสถาบันรวบรวมฐานข้อมูล เพื่อนำมาใช้ในการประกอบการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายที่ดี รวมทั้งการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายและตรวจสอบการดำเนินนโยบายให้มากขึ้น โดยการจัดตั้งและเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรประเภทสถาบันที่ติดตามการดำเนินนโยบายของรัฐ
และองค์กรภาคประชาชนที่ไม่แสวงหากำไร
ด้าน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา โดยยอมรับว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ไตรมาส 1 ปี 2557 มีแนวโน้มติดลบ เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2556 แต่ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เพราะการจ้างงานยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี การว่างงานต่ำ และการประกอบธุรกิจยังดำเนินไปได้ปกติ เศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อเนื่องได้ ก็ไม่มีปัญหาที่ต้องกังวล และมีแนวโน้มที่อาจจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4
ส่วน นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ก็ระบุว่า เศรษฐกิจไทยปี 57 นี้มีโอกาสที่จะขยายตัวติดลบ หรืออยู่ในระดับ 0% ได้ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองเป็นเรื่องที่ไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าจะจบลงเมื่อไร
ข่าวเด่น