ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน มี.ค.2557 ที่กระทรวงพาณิชย์รายงาน อยู่ที่ 106.94 สูงขึ้น 2.11% เมื่อเทียบกับ มี.ค.2556 หรือขยายตัวสูงสุดในรอบ 9 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2556 ที่เงินเฟ้อสูงขึ้น 2.25% และเมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.2557 ที่ผ่านมา เงินเฟ้อสูงขึ้น 0.22% ส่งผลให้เงินเฟ้อ 3 เดือนของปี 23557 (ม.ค.-มี.ค.) สูงขึ้น 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา
สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 2.11 % เป็นผลมาจากราคาสินค้าอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 4.46% สินค้าที่มีราคาแพงขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ เพิ่ม 8.09% ไข่และผลิตภัณฑ์นม 4.03% ผักและผลไม้ 5.89% เครื่องประกอบอาหาร 3.75% อาหารบริโภคนอกบ้าน 4.39% อาหารบริโภคในบ้าน 3.24% ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.91% สินค้าราคาแพงขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง 1.83% ค่าเช่าบ้าน หอพัก 1% บุหรี่ เหล้า เบียร์ ไวน์ 5.13% เป็นต้น
แต่กระทรวงพาณิชย์ ยังคาดว่า เงินเฟ้อในปี 2557 จะขยายตัวอยู่ในกรอบ 2-2.8% โดยเงินเฟ้อไตรมาส 2 น่าจะขยายตัวประมาณ 2.24% ส่งผลให้เงินเฟ้อครึ่งปีแรกขยายตัว 2.12% ถือเป็นการขยายตัวไม่น่าห่วง และสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย
โดยปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ภัยแล้งที่ทำให้ราคาสินค้าอาหารและพืชผลทางการเกษตรปรับตัวสูงขึ้น
ส่วนมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ ว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 2557 มีแนวโน้มขยับขึ้นจากในปี 2556 แม้ในภาวะที่ผู้บริโภคมีความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจและรายได้ และเพิ่มความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย อาจทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนชะลอแผนการปรับขึ้นราคาสินค้าเพื่อที่จะรักษาฐานลูกค้าไว้ แต่ต้นทุนการผลิตของบางสินค้าที่สูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบอาหารสด สินค้านำเข้า และเชื้อเพลิง ก็อาจยังคงต้องทยอยส่งผ่านมาที่ราคาสินค้าผู้บริโภคขั้นสุดท้ายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะมีภาพที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจมีค่าเฉลี่ยที่ 2.4% (โดยมีกรอบคาดการณ์ที่ 2.2-2.6%) ขยับขึ้นเล็กน้อยจาก 2.2% ในปี 2556 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็มีโอกาสขยับขึ้นมาที่ 1.5% (โดยมีกรอบคาดการณ์ที่ 1.3-1.7%) เทียบกับ 1.0% ในปี 2556
ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ อีไอซี ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า เงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานปี 2557 น่าจะยังอยู่ที่ 2.2% และ 1.3% ซึ่งยังอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอุปสรรค หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องการจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ข่าวเด่น