ประกัน
คปภ.มั่นใจดันเบี้ยประกันต่อจีดีพีแตะ6% ขึ้นอันดับ2 ในอาเซียนคู่มาเลย์ปลายปีนี้


 


คปภ.เล็งเบี้ยประกันภัยพุ่งขึ้นแตะ 6% ต่อจีดีพี ขยับขึ้นอันดับ 2 ในอาเซียนคู่กับมาเลเซีย ย้ำไทยมีศักยภาพโตแซงหน้าได้สบาย หวังต่อยอดประชาชนเข้าถึงประกัน-กำกับดูแลธุรกิจเข้มแข็ง พรัอมรับมือต่างชาติรุกตลาดรับเออีซี

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า คาดการณ์เติบโตของธุรกิจประกันภัยทั้งระบบในปีนี้ที่น่าจะเติบโตอีกราว 10% หรือคิดเป็นมูลค่าเบี้ยประกันทั้งระบบไม่น้อยกว่า 7 แสนล้านบาทนั้น น่าจะทำให้เบี้ยประกันภัยคิดเป็นสัดส่วนถึง 6% ของจีดีพี

ทั้งนี้ สัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อจีดีพีที่ถึงระดับ 6% นั้น ถือว่าขยับขึ้นไปอยู่ที่ระดับเดียวกับประเทศมาเลเซีย ทำให้ประเมินว่าไทยน่าจะขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งอันดับ 2 ของอาเซียนร่วมกับมาเลเซีย แต่ก็ยังคงตามหลังสิงคโปร์ที่มีสัดส่วนเบี้ยต่อจีดีพีที่ประมาณ 8%

"ยอมรับว่ามีความท้าทายอยู่มากพอสมควรที่จะเติบโตแซงหน้าทั้ง 2 ประเทศดังกล่าว แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่งทั้งสิงคโปร์และมาเลเซียซึ่งเป็นประเทศเล็กกว่าประเทศไทยเรามาก เรามีประชากรกว่า 60 ล้านคน ซึ่งตอนนี้ยังซื้อประกันภัยกันไม่มากนัก ฉะนั้นแล้วเรามีโอกาสมากกว่าที่จะขยับมูลค่าเบี้ยและสัดส่วนต่อจีดีพีขึ้นไปอีกได้"

นายประเวชกล่าวว่า การจะเติบโตดังกล่าวก็ต้องอาศัยการส่งเสริมด้านประกันภัยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้มากที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก แต่ก็พยายามอย่างเต็มที่ เห็นได้จากล่าสุดที่ได้ร่วมกันพัฒนาประกันภัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย หรือไมโครอินชัวรันซ์ออกมา เพื่อเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะให้ประชาชนสามารถเข้าถึงประกันภัยได้มากขึ้น

นอกจากการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงประกันภัยมากขึ้นแล้ว การกำกับดูแลให้บริษัทประกันภัยเติบโตอย่างเข้มแข็งก็เป็นเรื่องสำคัญด้วย นายประเวช อธิบายว่า คปภ. ได้พยายามพัฒนาเรื่องหลักเกณฑ์กำกับดูแลให้เป็นสากลมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมา คปภ. ได้เริ่มใช้ระบบการกำกับเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (RBC) โดยค่อยๆ เพิ่มเกณฑ์ความเพียงพอของเงินกองทุนขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้บริษัทเข้มแข็งขึ้น

"เริ่มจากเงินกองทุนที่ต้องมีอย่างน้อย 100% ตามเกณฑ์ขั้นต่ำ ก็ขยับมาเป็น 125% และล่าสุดเมื่อต้นปี 2556 ก็ขยับมาใช้ 140% รวมถึงในปีนี้ที่จะเริ่มใช้เกณฑ์ RBC ระยะที่ 2 ก็ยังคงเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 140% เช่นเดิม เพียงแต่จะเพิ่มตัวแปรที่ประเมินความเสี่ยงเข้าไปมากขึ้น เพื่อให้การพิจารณาความเสี่ยงมีความรอบด้านครบถ้วนมากขึ้น"

นายประเวช กล่าวว่า การปรับปรุงด้านเกณฑ์กำกับดูแลตรงนี้เพื่อให้บริษัทประกันภัยมีความเข้มแข็งมากขึ้น พร้อมแข่งขันกับบริษัทจากต่างชาติที่จะเข้ามามากขึ้นเมื่อเปิดเออีซี ซึ่งนักลงทุนจากต่างชาติเองก็อยากเห็นหลักเกณฑ์ของไทยที่เป็นสากลมากขึ้นเช่นกัน ก็นำมาสู่การพัฒนาเหล่านี้ รวมถึงขั้นต่อไปที่จะวิธีการทดสอบบริษัทในภาวะวิกฤตด้วย ก็เป็นอีกหนึ่งมาตรการกำกับที่เป็นสากลเช่นกัน

เกณฑ์การทดสอบบริษัทในภาวะวิกฤตก็จะเริ่มทดสอบกับบริษัทประกันวินาศภัยในปีนี้ ส่วนบริษัทประกันชีวิตที่เริ่มทดสอบไปแล้วในปีที่ผ่านมา ปีนี้ก็จะยังคงทดสอบต่อเนื่องเช่นกัน ทั้งหมดนี้เพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทประกันภัยมีความเข้มแข็งเพียงพอรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้



LastUpdate 19/04/2557 14:18:48 โดย : Admin
09-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 9, 2024, 11:41 pm