เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ญี่ปุ่นนำร่อง "ลดแนวโน้มเครดิตไทย" เป็นเชิงลบ


 

 

การปรับลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของไทยเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น แม้จะนำร่องมาจากบริษัท Japan Credit Rating Agency, Ltd. หรือ JCR สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิต) ประเทศญี่ปุ่น

 

 

โดย น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า JCR ได้ปรับลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของไทยจากที่มีเสถียรภาพมาเป็นลบ เนื่องจากความวุ่นวายทางการเมืองที่ยืดเยื้อเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต และหากวิกฤตการณ์ยังคงยืดเยื้อต่อไปในภาวะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงติดลบ อาจทำให้เกิดการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ ที่มีผลจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดปริมาณการซื้อสินทรัพย์ลง และส่งผลให้ดุลการชำระเงินขาดดุล ทำให้สถานะสภาพคล่องที่เป็นเงินตราต่างประเทศอ่อนแอลง รวมทั้งนโยบายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตจะล่าช้าออกไป 


แต่ JCR ยังคงเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ ที่ระดับ "A-"  และอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาท ที่ระดับ "A" แต่หลังจากนี้ JCR จะเฝ้าติดตามพัฒนาการในอนาคตของสถานการณ์ทางการเมือง รวมทั้งผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ และจะดำเนินการเกี่ยวกับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยตามความเหมาะสมและจำเป็นต่อไป หากข้อกังวลดังกล่าวกลายเป็นจริง

 
 
ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของ JCR ณ วันที่ 2 เมษายน 2557 

อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยJCR สถานะ 
ความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ A- 
ความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาท A 

ส่วนการปรับลดอันดับเครดิตของประเทศ ในมุมมองภาคเอกชน นายอมรเทพ จาวะลา หัวหน้าส่วนวิจัย เศรษฐกิจและตลาดการเงิน สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ไทยจะถูกปรับลดมุมมองอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิตเรทติ้ง) ลงจากระดับที่มี "เสถียรภาพ" เป็น "ลบ" ได้ในเร็วๆ นี้ เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีทิศทางที่ชะลอตัวลงชัดเจน และยังมีความเป็นไปได้สูงที่ระยะต่อไปประเทศไทยอาจถูกปรับลดเครดิตเรทติ้งลงอย่างน้อย 1 ขั้น หากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยยังคงยืดเยื้อ และไม่สามารถมีรัฐบาลที่มีอำนาจในการบริหารประเทศ
 
 
 

ขณะที่ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือ กรุงเทพโพลล์ ได้จัดทำผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 31 แห่ง รวม 66 คน ระหว่าง วันที่ 18-25 มี.ค. ที่ผ่านมา พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่า เศรษฐกิจไทยช่วงที่มีรัฐบาลรักษาการขณะนี้ เริ่มมีแนวโน้มอ่อนแอลง และกว่าครึ่งหนึ่งเชื่อว่าไทยจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือหรือแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือ (Outlook) ภายในสิ้นปีนี้

โดยผลสำรวจระบุว่า นักเศรษฐศาสตร์ 57.6% มองว่า พื้นฐานเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเริ่มอ่อนแอแล้ว และอีก 27.3% เห็นว่า เศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่อ่อนแอแล้ว โดยมีเพียง 12.1% ที่เห็นว่า พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งอยู่

ขณะเดียวกัน มีนักเศรษฐศาสตร์ 39.4% ที่เชื่อว่าอันดับเครดิตของไทย จะคงอยู่ในระดับเดิมในปีนี้ ขณะที่ 31.8% เชื่อว่าอันดับเครดิตประเทศ จะถูกปรับแนวโน้มจากมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) เป็นระดับที่เป็นลบ (Negative Outlook) และ 24.2% เชื่อว่าอันดับเครดิตประเทศจะถูกปรับลดลงภายในสิ้นปีนี้
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 เม.ย. 2557 เวลา : 20:52:20
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 5:54 am