"กรุงศรีออโต้"เดินหน้าปั๊มสินเชื่อโต 10% เล็งสิ้นปีพอร์ตพุ่งแตะ 2.47 แสนล้าน รับเศรษฐกิจซบกระทบยอดรถใหม่ชะลอหนัก 20% ย้ำจุดแข็งทีมบริหารความเสี่ยง สั่งชูธงคุมคุณภาพหนี้เข้มข้น มั่นใจสะกดหนี้เสียอยู่ในกรอบไม่เกิน 2%
นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) หรือกรุงศรี ออโต้ เปิดเผยว่า ปีนี้ กรุงศรี ออโต้ ตั้งเป้าหมายสินเชื่อขยายตัวขึ้นประมาณ 10% จากปีที่แล้ว หรือคาดว่าจะมีมูลค่าสินเชื่อคงค้างในปลายปีนี้อยู่ที่ 247,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นแนวโน้มการขยายตัวที่ชะลอตัวลงจากปีที่แล้วที่สินเชื่อคงค้างเติบโตขึ้นมาประมาณ 13%
ทั้งนี้ การเติบโตที่ลดลงในปีนี้ เนื่องจากตลาดรถยนต์ใหม่มียอดขายลดลง ซึ่งเห็นได้จากสัญญาณในไตรมาส 1 ที่ยอดขายรถใหม่โดยรวมลดลงประมาณ 14% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว บวกกับปัจจัยทางการเมืองที่ยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน สถานการณ์ยังไม่นิ่ง ทำให้ผู้บริโภคก็ยังกังวลอยู่พอสมควรหากจะสร้างหนี้เพิ่ม
"ในแง่ของผู้ให้บริการสินเชื่อ เราก็ดูตามความจำเป็นของลูกค้า และดูศักยภาพของลูกค้าด้วย เพราะเราให้ความสำคัญกับหลักการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ รวมถึงการบริหารคุณภาพหนี้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่เราเน้นมากในปีนี้"
นายไพโรจน์กล่าวอีกว่า ปกติกรุงศรี ออโต้มีจุดแข็งด้านการจัดการสินเชื่อได้ดี และระบบบริหารความเสี่ยงของสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว ปีนี้ก็จะใช้จุดแข็งนี้เป็นกลยุทธ์หลักที่เข้ามาช่วยจัดการคุณภาพสินเชื่อให้สามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคงในสภาวะเช่นนี้ โดยยังคงคาดว่าปีนี้อัตราหนี้เสียจะยังอยู่ในกรอบไม่เกิน 2% ซึ่งปีที่แล้วสามารถทำได้ค่อนข้างดีที่ระดับ 1.5%
อย่างไรก็ตาม นายไพโรจน์ยอมรับว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจปีนี้ค่อนข้างผันผวนมาก และต้องติดตามสถานการณ์เพื่อกำหนดกลยุทธ์เป็นรายเดือน รวมถึงประเมินว่าปีนี้ยอดขายรถใหม่อาจจะลดลงจากปีที่แล้วราว 20% ซึ่งประเมินว่าน่าจะมีผลกระทบต่อยอดปล่อยสินเชื่อใหม่อยู่พอสมควร ซึ่งปีนี้กรุงศรี ออโต้ ก็ตั้งเป้าหมายสินเชื่อปล่อยใหม่ลดลงจากปีที่แล้วเช่นกัน
"สถานการณ์ตอนนี้คงต้องดูต่อไปอีกระยะหนึ่งก่อน ปกติแล้วเราจะมาทบทวนเป้าหมายสินเชื่อกันในช่วงครึ่งปี ซึ่งเชื่อว่าน่าจะพอเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นระดับหนึ่งและจะทำให้บริษัทสามารถกำหนดกลยุทธ์ในช่วงครึ่งปีหลังได้อย่างเหมาะสม"
อย่างไรก็ตาม นายไพโรจน์ ยอมรับว่า สถานการณ์สินเชื่อในช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ได้อานิสงส์จากตลาดต่างจังหวัดเติบโตมากขึ้นพอสมควร ซึ่งยอดสินเชื่อส่วนใหญ่เกือบ 70% มาจากตลาดต่างจังหวัด ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ประเมินไว้ว่าจะทำได้ประมาณ 65% ทำให้ภาพรวมของพอร์ตในปัจจุบันเป็นฐานสินเชื่อในต่างจังหวัดมากกว่าฐานสินเชื่อในกรุงเทพแล้ว ซึ่งอยู่ในสัดส่วน 55% และ 45% ตามลำดับ
ข่าวเด่น