การค้าขายตามแนวชายแดน เริ่มมีความสำคัญต่อการส่งออกสินค้าไทยมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อจะมีการเปิดเสรีของกลุ่มประเทศในอาเซียน หรือ AEC ในปี 2558 ขณะที่การส่งออกของไทยไปยังประเทศคู่ค้ารายใหญ่ ทั้ง สหรัฐฯและยุโรป ยังไม่ขยายตัวได้อย่างเต็มที่
โดย นายธวัชชัย เฮงประเสริฐ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ได้ตั้งสายงานการค้าชายแดนขึ้นมาใหม่ เพื่อขยายการค้าและการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากขณะนี้การค้าชายแดน ได้ขยายตัว และมีมูลค่าเพิ่มมาก
การดำเนินงานของสายงานการค้าชายแดน จะส่งเสริมให้เกิดจับคู่ทางการค้า และการลงทุนกับผู้ประกอบการในประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านทางสภาธุรกิจของส.อ.ท. และคณะกรรมการ่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน เช่น สภาธุรกิจไทย-เวียดนาม ,ไทย-สปป.ลาว , ไทย-กัมพูชา และไทย-เมียนมาร์ โดยตั้งเป้าหมายที่จะขยายมูลค่าการส่งออกชายแดนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าปีละ 10%
นอกจากนี้ จะประสานความร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือก่อสร้างถนน และโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเพิ่มปริมาณการค้ากับเมืองหลวง และหัวเมืองขนาดใหญ่ให้สะดวกรวดเร็วขึ้น เพราะที่ผ่านมาสินค้าไทย จะครองตลาดได้เฉพาะพื้นที่ที่ติดกับประเทศไทยเท่านั้น แต่ในเมืองหลวงยังไม่สามารถเจาะตลาดได้อย่างเต็มที่
แม้ว่าการเข้าไปช่วยเหลือสร้างถนนในประเทศเพื่อนบ้านจะใช้เงินลงทุนพอสมควร แต่เมื่อเทียบกับมูลค่าการค้ารวมเกือบ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการส่งออกจากไทยเกือบ 600,000 ล้านบาทต่อปี ถือว่า มีความคุ้มค่า เพราะจะเพิ่มมูลค่าการค้าได้อีกหลายเท่าตัว เช่น หากสามารถส่งสินค้าเข้าไปยังเมืองย่างกุ้งได้ทุกวัน จะเพิ่มการค้าได้อีกกว่า 1 เท่าตัว
ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ประเทศเพื่อนบ้าน จะขยายตัวเฉลี่ย 7-8% ทุกปี
การค้าชายแดนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ยังสะท้อนได้จากการขยายสาขาของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทย นายเดชา ตุลานันท์ รองประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากทางการกัมพูชาในการเข้าไปเปิดสาขาในประเทศ เนื่องจากธนาคารได้เล็งเห็นถึงศักยภาพในการเติบโตด้านการลงทุนที่จะมีเข้ามาสู่ประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากสามารถเปิดสาขาที่กัมพูชาได้ ธนาคารก็จะมีสาขา หรือสำนักงานตัวแทนครบทั้ง 9 ประเทศในภูมิภาคนี้
โดยก่อนหน้านี้ ธนาคารกรุงเทพเคยมีสาขาที่กัมพูชาแต่ปิดไปในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งหากธนาคารเข้าไปสาขาได้ ก็จะรองรับทั้งจากลูกค้าธนาคารที่ต้องการไปลงทุนที่กัมพูชา และลูกค้าในประเทศที่จะออกไปลงทุนที่ประเทศอื่นๆ เนื่องจากธนาคารมีสาขาครอบคลุมอยู่ในภูมิภาคนี้อยู่แล้ว
ทั้งนี้ ในบรรดากลุ่มประเทศ AEC ธนาคารมีสาขาครอบคลุมเกือบทั้งหมด ได้แก่ ฟิลิปปินส์ 1 สาขา เวียดนาม 2 สาขา มาเลเซีย 5 สาขา สิงคโปร์ 1 สาขา อินโดนีเซีย 3 สาขา พม่า 1 สาขา และ ลาว 1 สาขา ยกเว้นที่บรูไน และกัมพูชาที่อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากทางการ
สาขาธ.กรุงเทพในอาเซียน
1. ฟิลิปปินส์ 1 สาขา
2. เวียดนาม 2 สาขา
3. มาเลเซีย 5 สาขา
4. สิงคโปร์ 1 สาขา
5. อินโดนีเซีย 3 สาขา
6. พม่า 1 สาขา
7. ลาว 1 สาขา
ข่าวเด่น