ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมิน หมดโอกาสจะได้เห็นดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้นในปี 2557 นี้ เหตุเศรษฐกิจซบเซาจากพิษการเมือง แต่ในปีหน้าแนวโน้มสภาพคล่องตึงตัวมาแน่ หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ เตรียมเบรกนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และเงินเฟ้อโลกที่กำลังจะกลับมาขาขึ้น
ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. วันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ มีมติอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.00 ในปัจจุบัน หวังลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายเล็กหรือ SMEs เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยหลังจากได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางการเมืองซึ่งลากยาวมาครึ่งปีแล้ว ด้านธนาคารพาณิชย์ก็รับลูกโดยการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของลูกค้าชั้นดี หรือ MLR ลงมาตามลำดับ พร้อมๆ กับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก
คำถามที่ตามมาก็คือ ในภาวะที่นโยบายการเงินส่งผ่านไปยังธนาคารพาณิชย์ได้ดีเช่นนี้ กนง.จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมวันพุธที่ 23 เม.ย. หรือไม่ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีมองว่ามีความเป็นไปได้ที่ กนง. จะเลือกลดดอกเบี้ยอีกภายในปีนี้เพื่อช่วยพยุงธุรกิจ หากทิศทางเศรษฐกิจชะลอลงเพิ่มเติม แต่ กนง. ยังไม่น่าจะตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในการประชุมครั้งนี้ เหตุผลเพราะว่า แม้การลดดอกเบี้ยจะช่วยลดภาระทางการเงิน แต่ปัญหาหลักของเศรษฐกิจไทยในตอนนี้นั้นไม่ใช่ต้นทุน แต่อยู่ที่รายได้จากการที่ผู้ประกอบการไม่สามารถขายของได้เหมือนเก่า และกำลังซื้อของผู้บริโภคก็ยังอ่อนแรง เห็นได้จากปัญหาการจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนา ซึ่งเป็นผลกระทบทางตรงของปัญหาการเมือง หรือความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจของผู้บริโภคซึ่งเป็นผลทางอ้อม ซ้ำเติมปัญหารายได้เกษตรกรที่ถูกกดดันโดยราคาสินค้าเกษตรอยู่แล้ว
ตัวเลขการขยายตัวของยอดสินเชื่อในไตรมาสแรกของปีนี้ ที่ธนาคารพาณิชย์ทยอยแถลงออกมา ก็ล้วนมีแนวโน้มทรงตัวจากไตรมาสก่อน สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการสินเชื่อใหม่ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับการชะลอการลงทุนของภาคธุรกิจซึ่งรอดูท่าทีของทิศทางการเมืองในประเทศ และบางส่วนก็มีการคาดการณ์ว่า หากมีรัฐบาลใหม่แล้วจะต้องมีการประกาศมาตรการทางการคลังเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ธุรกิจส่วนนี้ยังรอให้ถึงช่วงเวลาดังกล่าว
กลับมาที่ประเด็นแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปี เดิมทีศูนย์วิจัยหลายแห่ง รวมทั้งศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีเอง ได้ประเมินไว้ว่า เราอาจได้เห็นดอกเบี้ยนโยบายกลับมาเป็นขาขึ้นในช่วยปลายปี (ปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.50-3.00 ตามการสำรวจของบลูมเบิร์กเมื่อ พ.ย. ปีก่อน) แต่ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่อาจไม่ได้เห็นจนกระทั่งไตรมาสสี่ รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กที่ยังต้องการการประคับประคอง ทำให้แนวโน้มดอกเบี้ยยังกลับมาเป็นขาขึ้นไม่ได้ ด้วย กนง. น่าจะตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายการเงินไปอีกระยะหนึ่งภายหลังการเมืองมีสัญญาณคลี่คลาย คล้ายการดำเนินงานของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ที่เลือกคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำ แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องก็ตาม
อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 จะมีหลายปัจจัยที่กดดันให้นโยบายการเงินของไทยเข้าสู่ภาวะปกติ (Normalization) จากที่ผ่อนคลายมาเป็นระยะเวลาพอสมควรในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ ไม่ว่าจะแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวขึ้นตามวัฏจักรเศรษฐกิจโลก โมเมนตัมของการขยายตัวในประเทศกลุ่มพัฒนาแล้วที่จะแข็งแกร่งขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดเป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ซับไพรม์ ส่งผลให้สภาวะสภาพคล่องทั่วโลกกลับสู่แนวโน้มตึงตัว ในสถานการณ์เช่นนี้ หาก กนง. ยังมีความจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยอยู่ นอกจากจะสร้างความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อในประเทศอาจทะลุกรอบนโยบายแล้ว ยังมีความเป็นไปได้ที่เงินทุนข้ามชาติจะไหลออกจากไทย กระทบเสถียรภาพในตลาดการเงิน สร้างผลลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของไทยอีกต่อหนึ่ง ... ก็ได้แต่หวังว่าเวลานั้นจะไม่มาถึง
ข่าวเด่น