เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการชุมนุมทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานานกว่า 5 เดือน นอกจากจะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยแล้ว ยังส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล
โดยล่าสุด นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเริ่มส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ โดยในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม 2556 - มีนาคม2557) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิทั้งสิ้น 935,921 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 20,828 ล้านบาท
เนื่องจากภาษีที่จัดเก็บจากฐานการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าและอากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย สำหรับภาษีที่จัดเก็บจากฐานการอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะภาษีน้ำมันและภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ยังจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งเป็นผลจากการขยายระยะเวลาปรับลดภาษีน้ำมันดีเซล เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน
โดยการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่ลดลง ทำให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องเรียกประชุมติดตามการจัดเก็บรายได้และรายจ่ายของประเทศ โดยมีกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และสรรพากร เข้าร่วมหารือ เนื่องจากเป็นห่วงการจัดเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ โดยเฉพาะรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะการบริโภคลดลง
ด้าน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ยอมรับว่า การจัดเก็บรายได้ทั้งปีมีโอกาสน้อยมากที่จะจัดเก็บได้ตามเป้าที่วางไว้ โดยสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจมีสัญญาณชะลอตัว
ส่วนในเรื่องของอัตราภาษี VAT ซึ่งปัจจุบันได้มี พรฎ.ปรับลดอัตราภาษี VAT ประกาศใช้ทุกสองปี และ พรฎ.ปรับลดอัตราภาษี VAT ฉบับปัจจุบันจะหมดอายุลงในวันที่ 30 กันยายน อันจะทำให้อัตราภาษี VAT เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 10 นั้น คณะรัฐมนตรีจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อต่ออายุ พรฎ.ดังกล่าวเพื่อให้คงอัตราภาษี VAT ในอัตราร้อยละ 7 ไม่ให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ก่อนนำเสนอต่อ กกต.เพื่อพิจารณาอนุมัติ
กระแสข่าวการปรับขึ้นภาษีVAT เกิดขึ้น ในขณะที่รัฐบาลเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินในโครงการประชานิยม โดยจะเห็นได้จากการคืนภาษีในโครงการรถยนต์คนแรก ที่เมื่อเร็วๆนี้กรมบัญชีกลางได้ทำหนังสือถึงสำนักงบประมาณ ขออนุมัติงบกลางของปีงบประมาณ 2557 จำนวน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อมาจ่ายให้กับประชาชนที่ได้สิทธิ์โครงการรถคันแรกให้ได้ครบไปจนถึงเดือน ก.ย.นี้ เนื่องจากตอนนี้งบประมาณที่ตั้งไว้ไม่เพียงพอ แต่หากไม่ได้ตามที่ขอก็จะทำให้การจ่ายเงินให้กับผู้ได้สิทธิ์ในโครงการดังกล่าวไม่ครบ
โดยใน ปีงบประมาณ 2557 กระทรวงการคลังของบจ่ายรถคันแรกไปจำนวน 5 หมื่นล้านบาท แต่ได้รับการจัดสรรเพียง 4 หมื่นล้านบาท และได้จ่ายให้กับผู้ใช้สิทธิ์ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2557 ถึงเดือน เม.ย.2557 ไปแล้ว 3.5 หมื่นล้านบาท เหลือเงิน 5 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะจ่ายให้กับผู้ใช้สิทธิ์รถคันแรกที่จะได้เงินคืนในเดือน พ.ค.ที่จะถึงนี้ได้อีกเดือนเดียว และหากไม่ได้รับการอนุมัติงบกลาง 1 หมื่นล้านบาท คลังก็อาจต้องหยุดจ่ายเงินให้ผู้มีสิทธิ์ และรอจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ
ข่าวเด่น