เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
รับมือค่าเอฟทีไฟฟ้า-ก๊าซหุงต้มครัวเรือนพุ่ง




ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. นี้ เราคงต้องเตรียมรับมือกับค่าครองชีพที่จะพุ่งขึ้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจปรับลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ได้แก่ การปรับราคาพลังงาน
 
 
 
 
โดย นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) หรือ เรกูเลเตอร์ เปิดเผยว่า เรกูเลเตอร์ได้พิจารณาปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ประจำงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.2557 อีก 10 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีโดยรวมประจำงวด พ.ค.-ส.ค. 2557 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 69 สตางค์ต่อหน่วย และเมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานอีก 3.27 บาทต่อหน่วย จะทำให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมของประชาชนอยู่ที่ 3.96 บาทต่อหน่วย

ซึ่งอัตราค่าเอฟทีดังกล่าว เป็นตัวเลขที่เรกูเลเตอร์พยายามปรับลดลงหลังจากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) พิจารณาขอขึ้นค่าเอฟทีจริงที่13.94 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีโดยรวมอยู่ที่ 72.94 สตางค์ต่อหน่วย ดังนั้น การพิจารณาให้ค่าเอฟทีปรับขึ้นเพียง 10 สตางค์ต่อหน่วย จึงเหลือค่าเอฟทีอีก 3.94 สตางค์ต่อหน่วย ที่ต้องให้ กฟผ.เป็นผู้แบกรับภาระแทนประชาชน ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 2,247 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ให้ค่าเอฟทีงวดนี้ปรับขึ้น เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าลง 0.12 บาทต่อดอลลาร์ จาก 32.21 บาทต่อดอลลาร์ เป็น 32.33 บาทต่อดอลลาร์ รวมทั้งการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเป็น 2,003 ล้านหน่วย จาก 38,652 ล้านหน่วย เป็น 40,656 ล้านหน่วย เพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นประกอบกับราคาก๊าซฯเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 9.11 บาทต่อล้านบีทียู จาก 316.88บาทต่อล้านบีทียู เป็น 325.99 บาทต่อล้านบีทียู

นอกจากนี้ การผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันเตา มีต้นทุนเพิ่มขึ้น 246 ล้านบาท จาก 3,403 ล้านบาท เป็น 3,649 ล้านบาท
 
 
 
 
ส่วนแนวโน้มค่าเอฟทีงวดสิ้นเดือน(ก.ย.-ธ.ค.2557) ยังคงมีทิศทางปรับขึ้น เนื่องจากแนวโน้มการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)ที่นำเข้าจากต่างประเทศมาผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทย และหากรัฐบาลยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงอื่นที่มีต้นทุนถูกกว่าได้ ในอีก 10 ปีข้างหน้าค่าไฟฟ้าอาจจะสูงขึ้นเป็น 5 บาทต่อหน่วยได้

ขณะเดียวกัน ราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนก็ยังคงปรับขึ้นตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) โดยราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน ประจำเดือน พ.ค. 2557 อีก 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม ทำให้ราคาแอลพีจีเป็น 22.63 บาทต่อกิโลกรัม หรือรวมปรับขึ้นแล้วทั้งสิ้น 4.50 บาทต่อกิโลกรัม นับตั้งแต่เดือนก.ย.2556 ที่ผ่านมา 

 
 
 
สำหรับการดูแลลดค่าครองชีพของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการดูแลราคาสินค้า นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมการค้าภายในเตรียมทำหนังสือถึงผู้ผลิต ผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและห้างค้าปลีก ให้ตรึงราคาไว้อีก 6 เดือน (ตั้งแต่เดือน พ.ค. – ต.ค. 57) ตามนโยบายของรัฐฐาล เพื่อลดภาระความเดือดร้อนของผู้บริโภคในช่วงค่าครองชีพสูงและช่วงเปิดเทอม ส่วนสินค้ารายการที่มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจนไม่อาจแบกรับภาระได้ สามารถยื่นเรื่องขอปรับราคาให้เหมาะสมมายังกรมการค้าภายในได้ โดยทางกรมฯจะมีการพิจารณาเพื่อปรับอัตราราคาที่เหมาะสมอีกครั้ง

 
 
 
คงต้องยอมรับว่าในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอ รายได้ขยับขึ้นน้อยกว่ารายจ่าย การใช้จ่ายอย่างประหยัดและรู้คุณค่า เป็นสิ่งที่ทุกคนคงต้องพยายามนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 พ.ค. 2557 เวลา : 17:16:07
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 5:59 am