เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.เสนอใช้กรอบเงินเฟ้อทั่วไปดูแลเศรษฐกิจ


 

การดำเนินนโยบายการเงินมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะในปัจจุบันที่รัฐบาลไม่มีอำนาจในการบริหารประเทศมากนัก เห็นได้จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนของภาครัฐที่ลดลงมาก ขณะที่ราคาสินค้ากลับเพิ่มขึ้น จากราคาก๊าซหุงต้มที่ปรับขึ้นกิโลกรัมละ 0.50 บาท/ เดือน ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวคิดที่จะกำหนดกรอบการดำเนินนโยบายภายใต้ การกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไป แทนการใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐาน 
 

 
 
 
โดย นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.เปิดเผยว่า ธปท. เตรียมเสนอรัฐบาลชุดใหม่ให้ใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไปแทนการใช้กรอบเป้าเงินเฟ้อพื้นฐานในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ และแนวคิดดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และกระทรวงการคลัง ต่างให้การสนับสนุน โดย ผู้ว่าการ ธปท.ยังเชื่อว่า การใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไป ประชาชนจะเข้าใจได้โดยง่าย เพราะจะคุ้นเคยกับอัตราค่าครองชีพที่รวมทุกอย่างเข้ามาแล้ว 
 

 
 
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ธปท.เคยนำเสนอแนวคิดดังกล่าวให้กับกระทรวงการคลังพิจารณา สมัยที่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่ง รมว.คลังก็เห็นด้วยและได้นำเสนอแนวคิดไปยัง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี แต่นายกิตติรัตน์ไม่เห็นด้วย และขอเวลา 2 ปี โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลมีแผนที่จะปรับราคาพลังงาน และไม่ต้องการให้ราคาพลังงานมาเป็นปัจจัยผลักให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น 
 

 
 
และเมื่อพิจารณาทิศทางอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ ยังถือว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วง ซึ่งจากการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์เดือนเมษายน 2014 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 2.45%YOY (เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า) เร่งขึ้นจาก 2.11%YOY ในเดือนมีนาคม ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.66%YOY เร่งขึ้นจาก 1.31%YOY ในเดือนที่ผ่านมา สาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น มาจากราคาอาหารสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก รวมทั้งราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก

สำหรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ ธปท.ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นกรอบเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 0.5-3% ขณะที่ก่อนหน้านี้ ธปท.เสนอกรอบค่ากลางของเงินเฟ้อทั่วไปไว้ที่ 3% บวก-ลบ ไม่เกิน 1.5% 

 
 
 
ส่วนความแตกต่างระหว่างของอัตราเงินเฟ้อทั้ง 2 แบบนั้น อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline inflation) คือ การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการที่บริโภคโดยทั่วไป ซึ่งคำนวณทุกกลุ่มรายการสินค้า โดยแบ่งเป็นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องใช้ส่วนตัว เครื่องใช้ภายในบ้าน ที่พักอาศัย การรักษาพยาบาล การคมนาคมขนส่ง การสื่อสาร การศึกษา และการสันทนาการ เป็นต้น ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core inflation) จะไม่นำสินค้าในกลุ่มอาหารสดและพลังงานมาคำนวณอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากราคาสินค้ากลุ่มดังกล่าวมีความผันผวนสูง 
 

 
 
 
ไม่ว่า ธปท.จะกำหนดกรอบเงินเฟ้อแบบใด แต่ทิศทางนโยบายการเงินในปีนี้จะเป็นนโยบายหลักในการดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทย 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 พ.ค. 2557 เวลา : 22:21:12
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 6:01 am