อสังหาริมทรัพย์
วสท.แนะคุมเข้มอาคารทั่วเชียงราย/เชียงใหม่ เฝ้าระวังแผ่นดินถล่ม เขื่อนแตก ทรายเหลว


 

 
วสท.แนะรัฐคุมทุกอาคารในจ.เชียงราย-เชียงใหม่ เร่งรัดตรวจสอบโครงสร้างภายในอาคาร หากร้าว ไม่ควรเข้าไปพักอาศัย พร้อมให้เฝ้าระวังอาคารสิ่งปลูกสร้าง แผ่นดินถล่ม เขื่อนแตก ปรากฏการณ์ทรายเหลว ในรัศมีไม่เกิน 200 กม.จากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ยันอาคารสูงในกทม. ตั้งแต่ 10 ชั้นขึ้นไป ปลอดภัย แต่ห่วงอาคารที่สูงไม่เกิน 10 ชั้น 

 
 
 
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6 ริคเกอร์ในจังหวัดเชียงราย ทำให้เกิดความเสียหายแก่อาคารบ้านเรือนไปในจังหวัดเชียงราย และอาจจะลามไปถึงจังหวัดเชียงใหม่นั้น ทำให้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)เสนอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคาร สิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือนต่าง ๆ ให้ทุกอาคารใน จังหวัดเชียงรายและ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ควบคุม และเข้าไปตรวจสอบทุกแห่ง พร้อมทั้งปรับแก้ไข เพื่อให้ตัวอาคารรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 7 ริคเตอร์ได้

 
 
 
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายก วสท. เปิดเผยว่า จากการเกิดแผ่นดินไหวขึ้นนั้น ทางวสท.เห็นว่าทุกอาคารใน 2 จังหวัดนั้น ควรต้องตรวจสอบโครงสร้างทั้งหมด และปรับแต่งใหม่ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้รองรับแผ่นดินไหวได้ แม้ว่าจะต้องมีต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มขึ้นก็ตาม เพราะเห็นได้ชัดเจนว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการ์สึนามิ ที่จังหวัดภูเก็ตจนมาถึงปัจจุบัน เหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดบ่อยครั้งขึ้นเรื่อย ๆ และแผ่นดินไหวก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว ทุกคนจะต้องรู้หลักในการรับมือ ทั้งอาคาร สิ่งปลูกสร้าง และการปฏิบัติตน ถึงเวลาที่หน่วยงานภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้น

 
 
 
“เหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 6.3 ริกเตอร์ ที่ อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย และยังเกิดอาฟเตอร์ช็อคตามมากว่า 100 ครั้ง เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมานั้น เกิดจากรอยเลื่อนพะเยาที่ยังมีพลังอยู่ อีกทั้งมีจุดศูนย์กลางตื้นเพียง 7 กิโลเมตรลงไปจากพื้นที่ จึงทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงสูง และถือเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางในประเทศไทยขนาดสูงที่สุดเท่าที่เคยวัดได้ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่ออาคารสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่รัศมี 30 กิโลเมตร โดยในวันที่ 7 พ.ค.นี้  วสท. จะส่งตัวแทนลงพื้นที่ จังหวัดเชียงราย เพื่อตรวจสอบวิเคราะห์โครงสร้างอาคาร และให้คำแนะนำกับประชาชนในการรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวต่อไป”

 
 
 
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น วสท.ได้เสนอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และประชาชนเฝ้าระวังสถานการณ์ต่ออีก 72 ชั่วโมง โดยให้ตรวจสอบเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ว่า อาคาร สิ่งปลูกสร้างที่อยู่อาศัยนั้น ผิดรูปไปจากเดิมหรือไม่ มีรอยร้าวหรือไม่ โดยเฉพาะที่เสา และคาน หากมีรอยร้าว ให้แจ้งเจ้าหน้าที่รัฐ และไม่ควรกลับเข้าไปอยู่อาศัยอีก แต่ถ้าไม่มี ก็ไม่ต้องกังวล ที่สำคัญ ให้เฝ้าระวังอาคาร สิ่งปลูกสร้างในพื้นที่รัศมีไม่เกิน 50 กม. จากจุดศูนย์กลางฯ ซึ่งไม่ได้ก่อสร้างตามหลักทางวิศวกรรมฯ ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะพังทลายลงมาได้อีก หากเกิดอาฟเตอร์ช็อคขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดเชียงรายพะเยา และลำปาง

พร้อมทั้ง ตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างบริเวณไหล่เขา ที่อาจเกิดดินถล่ม หลังแผ่นดินไหวได้ หากในพื้นที่นั้นมีรอยแตก รอยร้าวอยู่ เมื่อเจอฝนตก ในช่วง 5-7 พ.ค.นี้ ที่กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า จะมีฝนตก แม้ว่าจะไม่มาก แต่อาจมีนัยสำคัญต่อรอยแยกเหล่านั้นได้ รวมถึงปรากฏการณ์ทรายเหลว ซึ่งทำให้หน้าดินสไลด์ ถนนพัง แต่ทั้งนี้ต้องดูในเชิงลึกอีกครั้งว่า สาเหตุที่ถนนพังนั้น เป็นเพราะดินสไลด์ รับน้ำหนักถนนไม่ได้ เมื่อดินถูกเขย่ารุนแรง หรือว่า การก่อสร้างไม่ดีพอ จึงทำให้ถนนทรุด

 
 
 
ขณะเดียวกันให้เฝ้าระวังเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในรัศมี 200 กม. ด้วย ที่อาจมีรอยแตก รอยแยก ต้องให้หน่วยงานที่ดูแลเขื่อนต่าง ๆ ทุกแห่ง ทุกขนาด กว่า 5,000 แห่ง ตรวจสอบทุก 6 ชั่วโมงว่ามีน้ำรั่วซึมหรือไม่ จนกว่าจะครบ 72 ชั่วโมง จึงจะถือว่าปลอดภัย แต่หากพบรอยแตกร้าว ให้เร่งระบายน้ำออก และซ่อมแซมโดยเร็ว ส่วนเขื่อนขนาดใหญ่ในระยะ 200 กม. ที่น่าห่วงมีเพียงแห่งเดียวคือ เขื่อนแม่จาง ระยะ 155 กม. ส่วนเขื่อนภูมิพลนั้นอยู่ห่างออกไป 280 กม. และเขื่อนสิริกิติ์ 230 กม. จึงไม่น่ากังวล  

ส่วนอาคารต่าง  ๆ ภายในกรุงเทพมหานคร ที่สูงเกินกว่า 10 ชั้น และสร้างหลังปี 50 นั้น ไม่ต้องกังวลว่าจะได้รับผลกระทบทางโครงสร้างใด ๆ จากแผ่นดินไหวของรอยเลื่อนพะเยา เพราะส่วนใหญ่ต้องออกแบบและก่อสร้างตามกฎหมายที่มีระบบป้องกันแผ่นดินไหวไว้แล้ว หรือกฎกระทรวงของกรมโยธาธิการและผังเมือง ว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานประกอบการออกแบบอาคารรับแรงแผ่นดินไหวและรายละเอียดโครงสร้าง ที่ มยผ. 1301 -52  ที่เทียบเคียงได้กับมาตรฐานนานาชาติ อีกทั้งโครงสร้างอาคารเป็นเหล็กกล้า สามารถรับแรงสั่นสะเทือนได้ถึง 7 ริกเตอร์

 
 
 
แต่ทั้งนี้ ยอมรับว่าเป็นห่วงอาคารเก่า อาคารที่สูงไม่เกิน 10 ชั้น และที่ก่อสร้างก่อนปี 50 ซึ่งโครงสร้างยังเป็นคอนกรีต ต้องเข้าไปตรวจสอบว่าโครงสร้างเสียหายหรือไม่ หากจะกังวลถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวอาคารในกรุงเทพฯ ให้จับตาการเกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนจังหวัดกาญจนบุรีเป็นหลัก ที่จะส่งผลกระทบถึงอาคารในกรุงเทพฯด้วย

ส่วนโครงสร้างของรถไฟฟ้าทั้งบีทีเอส และเอ็มอาร์ทีนั้น ถือว่าแข็งแรงมาก ถูกสร้างมาเพื่อรองรับแผ่นดินไหวแล้ว ปลอดภัยแน่นอน แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนกาญจนบุรี ที่จะเป็นอันตรายต่ออาคารสิ่งปลูกสร้างในกรุงเทพฯ

ทั้งนี้ วสท.และกรมโยธาธิการ จะเร่งหามาตรการร่วมกันในการเสริมความแข็งแรงของตัวอาคาร เบื้องต้นแนะนำให้ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งปรับปรุง หรือปรับแต่งอาคารเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้รองรับแผ่นดินไหวได้ ด้วยการเสริมเหล็กไขว้ หรือกำแพงผนังเฉียงอีกชั้นหนึ่ง โดยเฉพาะอาคารสาธารณะต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาล วัด สถานบริการ รวมทั้งจะทำแนวทางปฏิบัติตัวเบื้องต้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหวให้แก่ประชาชนในพื้นที่ด้วย เนื่องจากแผ่นดินไหวเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถพยากรณ์ได้ ว่าจะเกิดขึ้นตอนไหน และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ประชาชนไม่ทราบว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร 

LastUpdate 07/05/2557 15:01:22 โดย : Admin
07-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 7, 2025, 8:58 am