หลังการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีมติเป็นเอกฉันท์ทั้ง 9 ท่าน ในการวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องสิ้นสุดลงและพ้นจากความเป็นนายกรัฐมนตรี จากกรณีย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นเลขาธิการ สมช. โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม มีวาระซ่อนเร้น เอื้อประโยชน์ให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงษ์ เป็น ผบ.ตร.และใช้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทรกแซงการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงเพื่อประโยชน์ของตัวเอง เป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 266(2)(3) ประกอบมาตรา 268
ส่วนคณะรัฐมนตรีที่ร่วมประชุมในขณะนั้น เมื่อวันที่ 6 ก.ย.2554 ถือว่ามีส่วนร่วมในการแทรกแซงการโยกย้ายดังกล่าว ทำให้สถานภาพความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามไปด้วย
สำหรับรัฐมนตรี 9 คนที่ต้องพ้นจากตำแหน่ง ประกอบด้วย
1.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี
2.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง
3.นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ
4.พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เมื่อครั้งเป็น รมว.ยุติธรรม
5.นายปลอดประสพ สุรัสวดี เมื่อครั้งเป็น รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
6.นายสันติ พร้อมพัฒน์ เมื่อครั้งเป็น รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
7.พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เมื่อครั้งเป็น รมว.กลาโหม
8.น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เมื่อครั้งเป็น รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
9.นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ เมื่อครั้งเป็น รมช.พาณิชย์.
หลังการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่า การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ อาจทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ และจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทย ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากมากขึ้น โดยมองว่า จีดีพี ไทยทั้งปีจะโตได้เพียงร้อยละ 1 ขณะที่การส่งออกทั้งปี อาจขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2
โดยมีความเป็นห่วงต่อความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น ส่วนทางออกของปัญหาที่มีความเป็นไปได้ คือ บุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี ต้องประกาศยุติหน้าที่ของตนเอง และปล่อยให้ผู้มีคุณสมบัติการประนีประนอม มาไกล่เกลี่ยหาทางปฏิรูปประเทศ เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 2-3 ภายใต้เงื่อนไขการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค.นี้ และต้องติดตามท่าทีและการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆ ด้วย แต่หากมีกลุ่มการเมืองเคลื่อนไหวออกมาในลักษณะของความรุนแรงขัดแย้งมากขึ้น จนทำให้จัดการเลือกตั้งไม่ได้ จะทำให้จีดีพีทั้งปีขยายตัวต่ำว่าร้อยละ 2
ด้าน นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้มีการปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีของไทยในปีนี้ลงเหลือร้อยละ 1.1 จากเดิมที่คาดว่าจะโตร้อยละ 2 ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีก 9 คนพ้นจากตำแหน่ง
โดยหลังจากนี้แม้ว่าจะมีการเดินหน้าเพื่อจัดการเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค. นี้ แต่ประเมินว่าโอกาสสำเร็จเป็นไปได้ยาก ทำให้ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในปีนี้ ส่งผลให้ภาพรวมของเศรษฐกิจ จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาภาคการส่งออกเพียงอย่างเดียว โดยคาดว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะโตร้อยละ 3-3.5 ขึ้นอยู่กับปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะสามารถรักษาค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับอ่อนค่าที่ 32.30-32.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐได้ เพื่อเป็นตัวสนับสนุนความสามารถในการส่งออก ขณะที่จะไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยลงอีก เนื่องจากไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ข่าวเด่น